ก้าวสู่การจัดทำแผนฟื้นฟูเป็นสายการบินที่ 2 ของไทยเรียบร
อ่านข่าวต้นฉบับ: “นกแอร์” พร้อมฟื้นฟู! เร่งลดต้นทุน-หารายได้

ก้าวสู่การจัดทำแผนฟื้นฟูเป็นสายการบินที่ 2 ของไทยเรียบร้อยสำหรับสายการบิน “นกแอร์” หลังจากที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งไปเมื่อ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

“เกษมสันต์ วีระกุล” กรรมการสายการบินนกแอร์ระบุว่า หลังศาลมีคำสั่งให้นกแอร์เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการและจัดตั้งแกรนท์ ธอนตัน สเปเชียลิสท์ แอ๊ดไวซอรี่ เซอร์วิสเซสเป็นผู้ทำแผนร่วมกับนายปริญญา ไววัฒนา นายไต้ ชอง อี, นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร, นายชวลิต อัตถศาสตร์ และตนเป็นผู้จัดทำแผนไปแล้วนั้น

ขณะนี้นกแอร์เตรียมระดมกำลังพัฒนาแผนฟื้นฟูกิจการและเตรียมยื่นแผนฟื้นฟูกิจการให้เร็วที่สุดภายในเดือนมกราคม 2564 ตามกำหนด (3 เดือนนับแต่ศาลมีคำสั่ง) โดยหากไม่แล้วเสร็จสามารถยื่นขยายระยะเวลาได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 1 เดือน

ปลดล็อกต้นทุนค่าเช่าเครื่อง

พร้อมบอกว่า ที่ผ่านมาปัญหาหลักของ “นกแอร์” คือ ต้นทุนค่าเช่าเครื่องบิน และค่าซ่อมบำรุงที่มีสัดส่วนกว่า 40% โดยค่าเช่าเครื่องบินของนกแอร์ถือว่าสูงกว่ามาตรฐานของภาพรวมอุตสาหกรรม และกลายเป็นประเด็นหลักที่ทำให้นกแอร์มีต้นทุนสูง และเป็นต้นทุนที่ยากต่อการเจรจาต่อรอง แม้ว่าจะพยายามเปิดการเจรจาขอปรับสัญญากับผู้ให้เช่าเครื่องบินมาโดยตลอด

“เมื่อเจอวิกฤตการณ์โควิด-19 เครื่องบินทั้งหมดต้องจอดนิ่งไม่สามารถสร้างรายได้ได้ ในขณะที่ต้นทุนยังคงเดินอยู่ นกแอร์จึงตกอยู่ในสภาวะถอยไม่ได้ และเดินหน้าต่อไปก็ไม่ได้ ทางออกเดียวที่จะช่วยได้จึงเป็นการอาศัยอำนาจศาลเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ”

ปรับแผนลุยข้ามภาค-บินไกลขึ้น

โดยหลังจากนี้ นกแอร์จะเดินหน้าเจรจาแก้ไขสัญญาการเช่าเครื่องบินใหม่ตามลำดับ โดยเชื่อว่าหลังวิกฤตโควิด-19 อุตสาหกรรมการบินได้รับผลกระทบต่อเนื่องทั่วถึงกัน หลายสายการบินจำเป็นต้องถอนตัวออกจากอุตฯ ตลาดจึงกลายเป็นของผู้เช่าเครื่องบิน ซึ่งนกแอร์จะพยายามเลือกทางที่ดีที่สุด

พร้อมทั้งยังเตรียมปรับแผนการบินเพื่อสร้างกำไรที่ดีที่สุด เลือกบริการเส้นทางที่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศ สังคม และสายการบิน โดยมองหาโอกาสขยายเส้นทางบินข้ามภูมิภาค อาทิ เชียงใหม่-หาดใหญ่ เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน ฯลฯ

รวมถึงยังเตรียมศึกษาแผนการบินระหว่างประเทศในเส้นทางระยะไกลสู่ภูมิภาคอาเซียน เอเชีย และตะวันออกกลาง อาทิ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ฯลฯ พร้อมขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่และผนึกพันธมิตรเพิ่มคุณค่าการบริการ โดยยืนยันว่านกแอร์มีกระแสเงินสดหลักพันล้านบาทเพียงพอสำหรับการขยายเส้นทางและปรับแผนได้อย่างคล่องตัว และปรับโครงสร้างองค์กรให้เหมาะสมกับฝูงบิน

“การแข่งขัน-โควิด” ทุบดีมานด์

ด้าน “วุฒิภูมิ จุฬางกูร” ซีอีโอนกแอร์เสริมว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของนกแอร์อย่างรุนแรงจนนำมาสู่การร้องขอฟื้นฟูกิจการมี 2 ข้อหลัก ข้อแรก คือ ปัจจัยการแข่งขันทางด้านราคาที่รุนแรงต่อเนื่องมาหลายปี ข้อสอง คือ สถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ไม่สามารถให้บริการเส้นทางระหว่างประเทศ และมีจำนวนผู้โดยสารในประเทศลดลง

ขณะที่ท่าอากาศยานมีระยะเวลาทำการสั้นลง สายการบินไม่สามารถขยับเพิ่มลดเที่ยวบินตามดีมานด์ของผู้โดยสารได้ทำให้มีระยะเวลาการใช้ประโยชน์เครื่องบินเฉลี่ยลดลงจาก 12 ชั่วโมงต่อวัน เหลือเพียง 11 ชั่วโมงต่อวัน

หารายได้เสริม-ลดต้นทุน

“วุฒิภูมิ” บอกด้วยว่า ในระหว่างนี้ไปจนถึงในแผนการฟื้นฟูกิจการ นกแอร์จะมุ่งสร้างรายได้เพิ่มและเร่งลดต้นทุนอย่างต่อเนื่องผ่านการหารายได้เสริมอื่น ๆ นอกจากราคาค่าตั๋ว อาทิ ให้บริการเสริมการขายโรงแรมที่พักคู่กับตั๋วเครื่องบิน ให้บริการเสริมการขายรถเช่าคู่กับตั๋วเครื่องบิน ไปจนถึงการขยับช่องทางโฆษณาและทำการประชาสัมพันธ์โดยใช้เครือข่ายผู้ถือหุ้นใหญ่

สำหรับแนวทางการเร่งปรับลดต้นทุน “นกแอร์” ได้เร่งดำเนินการไปแล้วหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นการต่อรองขอลดอัตราดอกเบี้ย การยืดระยะเวลาชำระหนี้ การยืดระยะเวลาชำระดอกเบี้ย การเจรจาขอลดค่าเช่าเครื่องบินที่ทำสำเร็จแล้วบางส่วนลดค่าเช่าเครื่องได้สูงสุดถึง 44%

และยังมีอีกหลายส่วนที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการหาพาร์ตเนอร์ใหม่ ๆ รวมถึงการเพิ่มทุนที่อยู่ระหว่างการสำรวจความเป็นไปได้ เพื่อรอคำสั่งศาลว่าจะอนุญาตให้นกแอร์เป็นผู้ทำแผนการฟื้นฟูหรือไม่

นอกจากนั้น นกแอร์ยังเตรียมเข้าหารือกับคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า เพื่อหาแนวทางลดการทุ่มตลาดลดราคาตั๋วเครื่องบินของสายการบิน ในวันที่ 29 พฤศจิกายนนี้ หวังช่วยลดการแข่งขันด้านราคา ให้โอกาสสายการบินได้ทำกำไรมากขึ้น หลังจากบาดเจ็บจากโควิด-19 กันถ้วนหน้า

เตรียมรับเครื่องเข้าฝูงเพิ่ม 2 ลำ

“วุฒิภูมิ” ย้ำด้วยว่า ตอนนี้นกแอร์ให้บริการตามปกติเสมือนเดิมแล้ว โดยปัจจุบันใช้งานเครื่องบิน 22 ลำเต็มฝูงบิน ให้บริการรับส่งผู้โดยสารกว่า 604 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ พร้อมอัตราบรรทุกผู้โดยสารที่เติบโตเป็นลำดับจาก 30% ในช่วงแรก มาจนถึง 70% ในปัจจุบัน และเชื่อว่าอัตราการบรรทุกจะขยับขึ้นเรื่อย ๆ ในไฮซีซั่นนี้

ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมและดำเนินการขออนุญาตรับเครื่องบินเข้าสู่ฝูงอีก 2 ลำ ภายในต้นปี 2564 นี้อีกด้วย

อ่านข่าวต้นฉบับ: “นกแอร์” พร้อมฟื้นฟู! เร่งลดต้นทุน-หารายได้

Recommend more :

Airbnb หนุนท่องเที่ยวไทย ช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชน
สุพัฒนพงษ์ เร่งสรุปแผนฟื้นฟู การบินไทย ให้แล้วเสร็จ ก.พ.นี้
การบินไทย ยันโครงสร้างใหม่พนักงานได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน
ศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว (Tourist Assistance Center : TAC)
อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ พลัส กระตุ้น ‘ต่างชาติ’ เที่ยวหลังกักตัว
ธุรกิจการบินยังเดี้ยง เที่ยวบินสุวรรณภูมิ-ดอนเมืองวูบ 40-60%
ชาญศิลป์ ขอบคุณ พนง.การบินไทย “เสียสละลาออก” มี.ค. 64 มีรอบ 2
“นกแอร์” ฉลุย! แผนฟื้นฟู-ตั้ง “แกรนท์ ธอนตัน-5 กรรมการ” ทำแผน
ลุ้น “โกดังพักหนี้” ความหวัง-ทางรอด โรงแรมไทย
ชงพัทยาโมเดลรับจีน-รัสเซีย ทุ่ม 8 หมื่นล้าน พัฒนาสู่โฉมใหม่
ผู้บริหาร “นกแอร์” ทยอยลาออก เปิดทางฟื้นฟูกิจการ
พนักงานการบินไทยแห่ยื่น “เออร์ลี่” 4,977 คน มีผล 1 ธ.ค.นี้

Leave a Reply