แม้ว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยจะมีสัญญาณฟื้นตัวบ้า
อ่านข่าวต้นฉบับ: ธุรกิจ “แอร์ไลน์” 9 เดือนแรกอ่วม TG ขาดทุน 4.9 หมื่นล้าน

แม้ว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยจะมีสัญญาณฟื้นตัวบ้างเล็กน้อยจากการเดินทางภายในประเทศ แต่ก็ยังอยู่ในอัตราไม่เท่ากับช่วงเวลาก่อนวิกฤตโควิด-19

ขณะที่ผลของมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิดที่บังคับใช้มาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ยังคงส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยในช่วงไตรมาส 3

นั่นหมายความว่า สายการบินที่มุ่งให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศเป็นหลักยังคงได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้

ขณะที่สายการบินที่โฟกัสเส้นทางบินภายในประเทศส่วนใหญ่เริ่มทยอยกลับมาให้บริการเส้นทางบินภายในประเทศกันแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้เริ่มมีรายได้เข้ามาหมุนเวียนในช่วงไตรมาส 3 นี้แล้ว

บินไทยขาดทุนอ่วม 4.9 หมื่น ล.

จากรายงานของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสายการบินไทย (TG) ระบุว่า ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา บริษัทยังคงยกเลิกเที่ยวบินประจำ ทั้งเส้นทางบินระหว่างประเทศและภายในประเทศเป็นการชั่วคราวต่อเนื่องจากไตรมาส 2 เนื่องจากประเทศยังไม่มีมาตรการเปิดประเทศแต่อย่างใด (เส้นทางภายในประเทศให้สายการบินไทยสมายล์ดำเนินการแทนทั้งหมด)

ยกเว้นเที่ยวบินพิเศษที่จัดขึ้นสำหรับนำคนไทยกลับบ้านและรับนักเดินทางต่างชาติบางกลุ่มที่รัฐบาลอนุญาตไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มลองสเตย์, สมาชิกบัตรอีลิตการ์ด, กลุ่มที่เข้ามารักษาพยาบาล, กลุ่มนักธุรกิจ ฯลฯ (ตามมติ ครม.) รวมถึงเที่ยวบินขนส่งสินค้าบางเส้นทาง

ทำให้ผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมามีรายได้รวม 3,727 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 41,289 ล้านบาท หรือ 91.7% โดยรายได้จากค่าโดยสารและน้ำหนักส่วนเกิน ซึ่งเป็นรายได้หลักเหลือเพียง 1,216 ล้านบาท ลดลง 34,123 ล้านบาท หรือ 96.6% ส่งผลให้ขาดทุนสุทธิ 21,536 ล้านบาท

และหากดูผลการดำเนินงานรวมในช่วง 9 เดือนแรกที่ผ่านมา (มกราคม-กันยายน 2563) พบว่ามีรายได้รวม 44,220 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 93,096 ล้านบาท หรือ 67.8% และขาดทุนสุทธิ 49,086 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนอยู่ที่ 10,956 ล้านบาท

โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2560 มีมูลค่าสินทรัพย์รวม 298,952 ล้านบาท และมีหนี้สินรวม 338,897 ล้านบาท

BA ติดลบ 4.9 พันล้าน

สำหรับบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (BA) ผู้บริหารสายการบิน “บางกอกแอร์เวย์ส” แจ้งว่า ในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา บริษัทได้กลับมาทำการบินเส้นทางภายในประเทศเป็นหลัก อาทิ เส้นทางกรุงเทพฯ-สมุย, กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-สุโขทัย, กรุงเทพฯ-ลำปาง และกรุงเทพฯ-ภูเก็ต

โดยได้ปรับแผนเส้นทางบินและจำนวนเที่ยวบินให้สอดรับกับความต้องการจองตลอด ทำให้มีรายได้รวม 903 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 6,698 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 1,585.1 ล้านบาท

ทำให้ตัวเลข 9 เดือนแรกมีรายได้รวม 8,196.4 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวมที่ 20,540.2 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 4,918 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 121.3 ล้านบาท

“ไทยแอร์เอเชีย” เร่งสปีด Q4

ด้านบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ผู้บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย รายงานว่า เศรษฐกิจโลกในไตรมาส 3 ที่ผ่านมานั้นได้ผ่านจุดต่ำสุดจากวิกฤตโควิดแล้ว แต่การฟื้นตัวยังมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากเกิดการระบาดของไวรัสโควิดรอบใหม่ ทำให้บางประเทศกลับมาใช้มาตรการปิดประเทศอีกครั้ง ทำให้การเดินทางระหว่างประเทศยังไม่สามารถทำได้ตามปกติ

สำหรับประเทศไทยนั้นมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศของภาครัฐทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังคงต้องดำเนินการอย่างประคับประคองให้ผ่านปีนี้ไปได้

โดยในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา “ไทยแอร์เอเชีย” ได้กลับมาทำการบินในทุกจุดหมายปลายทางในประเทศ รวมทั้งเพิ่มปริมาณที่นั่งและความถี่ให้สอดรับกับดีมานด์ของตลาด ซึ่งในเดือนกันยายนที่ผ่านมานั้นได้ให้บริการเส้นทางในประเทศคิดเป็น 96% ของปริมาณที่นั่งก่อนการแพร่ระบาดโควิดทำให้มีรายได้รวม 2,403.2 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 75% และขาดทุนสุทธิ 3,340.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 758.9 ล้านบาท

ขณะที่ตัวเลขผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกมีรายได้รวม 12,078.7 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 61% และขาดทุนสุทธิ 6,638.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 733.5 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม คาดว่าภาพรวมของเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 นี้มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามเศรษฐกิจโลก โดยได้รับแรงสนับสนุนจากนโยบายของภาครัฐ โดยในส่วนของภาคธุรกิจท่องเที่ยวนั้นคาดว่า ยังคงไม่มีการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไตรมาสนี้มีวันหยุดยาว บวกกับนโยบายขยายเวลาโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” จึงเชื่อว่าน่าจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ดี

ขณะเดียวกัน “ไทยแอร์เอเชีย” ยังมีแผนเพิ่มปริมาณที่นั่งสำหรับเส้นทางบินภายในประเทศมากขึ้น โดยคาดว่าจะมากกว่าก่อนการแพร่ระบาดของโควิด ประกอบด้วยการเพิ่มฐานปฏิบัติการบินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอีก 1 แห่ง จะช่วยให้สามารถเพิ่มเส้นทางบินและความถี่ในการบินได้มากยิ่งขึ้น และสอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและปริมาณการเพิ่มขึ้นของผู้โดยสารด้วย

อ่านข่าวต้นฉบับ: ธุรกิจ “แอร์ไลน์” 9 เดือนแรกอ่วม TG ขาดทุน 4.9 หมื่นล้าน

Recommend more :

เปิดประเทศรับต่างชาติ ก้าวทีละก้าว “ฟื้น ศก.ไทย”
เปิดขั้นตอน-เงื่อนไขลงทะเบียน “เราเที่ยวด้วยกัน” รอบใหม่ 1 ล้านสิทธิ์
การบินไทย แจง 3 ปม ผู้สอบบัญชี ไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน
เปิดใจ “ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” “ไทยแอร์เอเชีย” รอดแล้ว !
รมต.พิพัฒน์ ชี้โควิดระลอกใหม่กระทบสั้น คาดเที่ยวในประเทศฟื้นแน่ มี.ค.นี้
ลุ้นอีกครั้ง! ครม. เคาะ ขยาย 2 ล้านสิทธิ์ “เราเที่ยวด้วยกัน”
ท่องเที่ยวถกสารพัดโมเดล ปลดล็อก “กักตัว” ต่างชาติ
โรงแรม 3.7 พันแห่ง ปิดตาย ทุนต่างชาติไล่ทุบราคา “ภูเก็ต-สมุย”
“บางกอกแอร์เวย์ส” คลอดมาตรการดูแลผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบโควิด-19
เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 เปิดจองใช้สิทธิ์ 17 พ.ค. เช็กเงื่อนไขที่นี่
“เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 3 เผือกร้อน ททท.
คิง เพาเวอร์ ลุยขายสินค้าทั้ง Duty Free และ Non Duty Free 

Leave a Reply