ธุรกิจท่องเที่ยวที่ถูกอัดจนน็อก จากการแพร่ระบาดของเชื้อ
อ่านข่าวต้นฉบับ: ประวัติ โรงแรมดาราเทวี ดราม่าตั้งแต่ก่อสร้าง ยันปิดกิจการ

ธุรกิจท่องเที่ยวที่ถูกอัดจนน็อก จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงสะลืมสะลือ ยืนได้ไม่ตรงนักในช่วงหลายเดือนมานี้ แม้จะมีความพยายามในการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศของรัฐบาลแล้วก็ตาม

ที่ผ่านมาเราจึงได้เห็นภาพโรงแรมและที่พัก ที่สายป่านไม่ยาว หลายแห่ง ทยอยปิดตัว

อีกรายที่นักท่องเที่ยวพากันร้องเสียดายไปตามๆ กัน คือ “โรงแรมดาราเทวี” จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเมื่อวานนี้ (29 พ.ย.63) มีข่าวปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน เนื่องจากขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Dhara Dhevi Chiang Mai

“ละเอียด บุ้งศรีทอง” นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือ (ตอนบน) ถึงกับกล่าวว่า “ดาราเทวีถือเป็นโรงแรมขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าในเชียงใหม่รายแรกที่ประกาศปิดกิจการ” 

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมประวัติของโรงแรงดาราเทวี ซึ่งพบว่ามีประเด็นขัดแย้งตั้งแต่เรื่องการก่อสร้าง รวมถึงเรื่องการเปลี่ยนมือ ก่อนจะนำไปสู่การปิดกิจการ

ก่อนเข้าสู่ประวัติ เริ่มต้นที่ชื่อของ “ดาราเทวี” ซึ่งข้อมูลจากแพรวเวดดิ้ง ระบุว่า คำว่า “ดารา” สื่อความหมาย 3 อย่าง คือ ความหมายแรก เป็นส่วนหนึ่งในพระนามของเจ้าดารารัศมี พระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทในการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมล้านนาอย่างมาก

ความหมายที่สอง สืบเนื่องจากการวางตำแหน่งอาคารในลักษณะของจักรราศีตามความเชื่อล้านนา คือ 1 ประตู ได้แก่ประตูทางเข้าทางเดียวคือประตูไชยะดาราฯ 3 จอง คืออาคารหลัก 3 หลัง ที่ตั้งตระหง่านบริการแขกทุกคน 7 หนอง คือหนองน้ำเดิมที่เคยมีอยู่เดิมก่อนก่อสร้างบวกสระว่ายน้ำที่ขุดขึ้นใหม่ และ 12 หอ สื่อถึงอาคารต่างๆ ที่ตั้งเรียงรายกันเป็นรูปนกตามแผนที่โรงแรม

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Dhara Dhevi Chiang Mai

เหตุที่ต้องเป็นนก เพราะชาวล้านนานับถือเจ้าผู้ครองนครว่า เป็นเจ้าแห่งท้องฟ้า ภายในโรงแรมจึงมีการประดับประดารูปนกมากมายแทบจะทุกจุด โดยเฉพาะนกยูง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระอาทิตย์อันเป็นศูนย์กลางในทางดาราศาสตร์ และยังโยงใยมาถึง ความหมายที่สาม วิธีการออกแบบที่ใช้ดวงดาวเป็นโลโก้ของโรงแรม

ส่วน “เทวี” มาจากความนิยมนับถือสตรีสูงศักดิ์ในสังคมล้านนาว่าเป็นตัวแทนของความดีงามและเกื้อกูลกัน

เพจเฟซบุ๊ก ดาราเทวี เชียงใหม่ ระบุว่า โรงแรมดาราเทวีเริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2545 ก่อนจะเปิดให้บริการเมื่อปี 2547 ซึ่งในปีเดียวกันนี้เอง ทาง “ดาราเทวี” ได้เซ็น MOU กับ “แมนดาริน กรุ๊ป” สาระสำคัญคือ แมนดารินจะเข้ามาเป็นผู้บริหารดาราเทวีเป็นระยะเวลา 15 ปี (ต่ออีก 15 ปี) แลกกับการที่ดาราเทวีจะได้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการโรงแรม การเทรนนิ่งบุคลากร รวมทั้งเครือข่ายในการทำตลาดและประชาสัมพันธ์ ซึ่งแมนดาริน กรุ๊ป มีฐานข้อมูลกลุ่มลูกค้าอยู่แล้วจากโรงแรมใหญ่ในเครือทั่วโลก

โรงแรมซึ่งใช้เงินลงทุนสูงถึง 3 พันล้านบาท มีดราม่าตั้งแต่ช่วงก่อสร้าง เนื่องจากถูกนักวิชาการล้านนาออกมาต่อต้าน กรณีจำลองโบราณสถานและสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์ เข้าไปไว้ในโรงแรม ตามการรายงานของผู้จัดการ 360 องศา 

เจ้าของโรงแรมคือ “สุเชฏฐ์ สุวรรณมงคล” เคยให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐออนไลน์ว่า ครอบครัวเป็นดีลเลอร์ขายรถอีซูซุใหญ่ที่สุดในภาคใต้ แต่ด้วยความที่ตนเองหลงใหลในเสน่ห์ของศิลปวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมล้านนา จึงขอประกาศว่า ชีวิตนี้ขอตายที่เชียงใหม่

“ตอนแรกผมเริ่มทำร้านอาหารเล็กๆ ก่อน ชื่อว่า “เลอ กรองด์ ล้านนา” ทำอยู่ 2 ปี จึงค่อยๆ ขยับขยายมาสร้างอาณาจักรโรงแรมตามความฝัน” สุเชฎฐ์ กล่าว

แต่หลังจากดำเนินกิจการได้เพียงไม่กี่ปี  ก็มีข่าวลือว่า “ดาราเทวี เชียงใหม่” ขายกิจการ

ปี 2555 “สันต์ สืบแสง” ที่ปรึกษาโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล ดาราเทวี เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่มีข่าวว่าเจ้าของโรงแรมคือกลุ่ม “สุเชฎฐ์ สุวรรณมงคล” ขายกิจการให้แก่นักลงทุนกลุ่มอื่นแล้วนั้น ไม่เป็นความจริง

ที่จริงคือมีกลุ่มนักลงทุนจากจีน ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจสายการบินเอกชน 2 สายการบินและโรงแรมหลายแห่งในจีนสนใจร่วมทุน โดยเข้ามาซื้อหุ้นในสัดส่วน 49% วงเงินกว่า 2,000 ล้านบาท และเข้ามาร่วมบริหารกับวางแผนการลงทุนเพิ่มเติมบางส่วน

ซึ่งโรงแรมดาราเทวียังคงดำเนินกิจการตามปกติ หุ้นส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มเดิม และยังคงบริหารด้วยเครือโอเรียนเต็ลเช่นเดิม อย่างไรก็ตาม “สันต์” ยอมรับว่า หลายปีที่ผ่านมา เจ้าของกิจการพยายามหาผู้ร่วมทุนเพิ่ม เพื่อแบ่งเบาภาระที่มีกับสถาบันการเงิน และเพื่อหาเงินลงทุนเพิ่มเติมในโครงการที่เตรียมไว้ ไม่ได้ต้องการขายกิจการ เพราะได้ลงทุนไปแล้วหลายพันล้านบาท และโรงแรมดำเนินกิจการมาได้ด้วยดี

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Dhara Dhevi Chiang Mai

ต่อมาในปี 2558 ข่าวการขายกิจการโรงแรมก็เป็นความจริง เมื่อ “สุเชฎฐ์” ได้ขายโรงแรมต่อให้ “นายแพทย์ วิชัย ถาวรวัฒนยงค์” ประธานกรรมการ บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) โดย IFEC ได้เข้าซื้อหุ้นจากกลุ่มโรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่ 100% พร้อมหนี้ รวมมูลค่าการซื้อทั้งหมด 2,520 ล้านบาท ตามการรายงานของ News1live 

หลังจากนั้น มีกระแสข่าวโรงแรมดาราเทวีใกล้ล้มละลาย เพราะ IFEC มีปัญหาผู้ถือหุ้น แต่ “นายแพทย์ วิชัย” ปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Dhara Dhevi Chiang Mai

ล่วงเข้าสู่ปี 2563 ซึ่งทั่วโลกได้รับผลกระทบจากโควิด ทันหุ้น รายงานว่า ฝ่ายบริหารโรงแรมดาราเทวี ได้แจ้งให้ IFEC ทราบว่า จำเป็นต้องปิดกิจการให้บริการโรงแรมดาราเทวีลงชั่วคราว และไม่สามารถเปิดให้บริการโรงแรม ที่มีพนักงานกว่า 300 คน ให้บริการลูกค้าที่มีผู้เข้าพักเพียงห้องเดียวได้

จากการเข้าตรวจสอบพบว่า ดาราเทวี ไม่มีเงินแม้แต่จ่ายเงินเดือน มีหนี้ทางการค้า รวมถึงหนี้ค่าสาธารณูปโภคอีกกว่า 30 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการชุดใหม่ได้ช่วยแก้ปัญหาทางการเงิน โดยจัดหาให้กู้ยืมไปหลายครั้ง มูลค่าเกือบ 20 ล้านบาท

IFEC เผยด้วยว่า ปลายปี 2558 IFEC ได้ส่งบริษัทย่อย อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ แคปแมนเนจเม้นท์ ซื้อหุ้นบริษัทโรงแรมดาราเทวี จากผู้ถือหุ้นที่เป็นบริษัทจำกัดแห่งหนึ่ง มูลค่าหลายร้อยล้านบาท รวมทั้งซื้อหนี้จากสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง รวมมูลค่าเกือบ 4,000 ล้านบาท เมื่อซื้อมาแล้ว ดาราเทวี มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรมเพียง 64 ห้อง ส่วนที่เหลืออีก 59 ห้อง ยังไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรม เนื่องจากต้องรอผลของการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ

เมื่อดาราเทวี เปิดบริการห้องพักได้เพียงส่วนเดียว แต่จ้างพนักงานไว้เต็มอัตรา ประมาณ 400 คน หรือใช้พนักงาน 6 คน ต่อแขกผู้เข้าพัก 1 หลัง (กรณีแขกพักเต็ม) สวัสดิการพนักงาน ระดับ 5 ดาว หอพักพนักงานฟรี เลี้ยงอาหารวันละ 2 มื้อ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า เหตุใด ดาราเทวี ต้องประสบผลขาดทุนจำนวนมหาศาลทุกปี

ในแง่ผู้ใช้ห้องพัก พบว่า ช่วงเดือนตุลาคม 2562 ถึงต้นเดือนมกราคม 2563 มีผู้เข้าใช้บริการห้องพัก ประมาณ 20 ห้อง แต่พอโรงแรมดาราเทวี เจอช่วงแรกของการระบาดโรคโควิด-19 เหลือผู้เข้าใช้บริการ ประมาณ 10 ห้อง จนสุดท้ายเหลือผู้เข้าใช้บริการเพียง 1 ห้อง และปิดบริการชั่วคราวในขณะนี้ จากผลกระทบโควิด – 19

ย้อนไปเมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า กลุ่มพนักงานโรงแรมดาราเทวี กว่า 100 คน รวมตัวกันร้องเรียน ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ กรณีที่พนักงานไม่ได้รับค่าจ้างร่วม 4 เดือน

“พวกเราไม่ได้ค่าจ้าง แต่ถ้าขาดงานพวกเราก็ต้องโดนหักเงิน หากจะลาออกถอดใจไปเอง เงินชดเชยจะไม่ได้แม้แต่บาทเดียว ขอพื้นที่ข่าวตรงนี้สอบถามไปถึงผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานโรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่ ไม่ทราบว่าการกระทำแบบนี้ผู้บริหารพยายามบีบให้พนักงานลาออกไปเองหรือไม่ เพื่อทางโรงแรมจะไม่ต้องรับผิดชอบค่าชดเชยแก่พนักงาน” หนึ่งในพนักงานให้สัมภาษณ์ และให้ข้อมูลด้วยว่า ปัญหาเรื่องเงินเดือนมีมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 ซึ่งเป็นเดือนแรกที่กรรมการชุดใหม่ของโรงแรมเริ่มเข้าควบคุมโรงแรมดาราเทวี

จนวันที่ 23 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โรงแรมดาราเทวี ได้มีหนังสือบอกเลิกจ้างถึงพนักงานโรงแรมทุกคน ด้วยเหตุผลการแพร่ระบาดจากโควิด

สปริงนิวส์ รายงานว่า กรณีผู้บริหารโรงแรมเลื่อนการเปิดกิจการทำให้ค้างเงินเดือนพนักงานมาหลายเดือน เกิดข้อพิพาทระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง จนหลายๆ หน่วยงานต้องรีบเข้ามาดูแลและแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทำให้ต้องประกาศเลิกจ้างพนักงานและปิดโรงแรมดาราเทวีไปอย่างถาวร เพื่อรอให้กรมบังคับคดีขายทอดตลาดโรงแรมดาราเทวีในต้นปีหน้า

 

 

 

 

อ่านข่าวต้นฉบับ: ประวัติ โรงแรมดาราเทวี ดราม่าตั้งแต่ก่อสร้าง ยันปิดกิจการ

Recommend more :

บางกอกแอร์เวย์ส ปรับตารางบิน-ปิดเลานจ์ชั่วคราว รับมือโควิด
ทีมฟื้นฟู “การบินไทย” แตกหัก แผนสะดุดขอศาลเลื่อนรอบ 2
“แกรนด์แอสเสท” อัดโปรฯดุ พัก 1 ปี จ่าย 1 ล้าน ดันยอดจอง
ท่องเที่ยวโค้งแรกปี’64 สาหัสทั่วหล้ารายได้เข้าไม่เกิน 10%
ดีเดย์ 1 มี.ค. เปิดน่านฟ้าให้เครื่องบินต่างชาติจอดพัก-ต่อเครื่องในไทยได้ 
ททท.ชี้แบ่งโซนเสี่ยงหนุนเที่ยวโค้งท้าย-สั่งงดกิจกรรมพื้นที่สีแดง
การบินไทยหมดสิทธิ์บริหารภาคพื้นสนามบินภูเก็ต การท่าฯ ส่ง AOTGA เสียบแทน
ดุสิตฯ ชี้ ’64 ปีแห่งการปรับเอาตัวรอด หลัง ’63 ยากลำบากที่สุดของอุตฯโรงแรมไทย
แฉสารพัดกลโกง เราเที่ยวด้วยกัน เลื่อนลงทะเบียนใหม่ไม่มีกำหนด
ชงเพิ่ม ASQ ทั่วประเทศ รับ “มาตรการ” เปิดรับต่างชาติ
การบินไทยอุ้มต่อ “ไทยสมายล์” เพิ่มไฟลต์บิน-ขยายฮับดอนเมือง
เช็คขั้นตอน ช่องทาง การจองโรงแรม “เราเที่ยวด้วยกัน”

Leave a Reply