กอล์ฟควอรันทีนออกสตาร์ตไม่ปัง สนามกอล์ฟชื่อดัง-สนามใหญ่
อ่านข่าวต้นฉบับ: กอล์ฟควอรันทีนส่อแป้ก “ต้นทุนพุ่ง-เงื่อนไขไม่ปัง”

กอล์ฟควอรันทีนออกสตาร์ตไม่ปัง สนามกอล์ฟชื่อดัง-สนามใหญ่ ปฏิเสธเข้าร่วมโครงการ ชี้เงื่อนไขมาก-ต้นทุนการบริหารจัดการเพิ่ม หวั่นได้ไม่คุ้มเสีย กระทบเมมเบอร์-รายได้ ชี้ทางการเคาะมาตรการช้าไป ไฮซีซั่นเหลือน้อย ด้านนายกสมาคมสนามกอล์ฟฯเผยมีสมาชิกสนใจเข้าร่วมโครงการ 3-5 ราย

จากความพร้อมในเรื่องของสนามกอล์ฟที่มีมาตรฐาน มีการบริการที่มีคุณภาพ รวมถึงจุดแข็งในเรื่องของระบบสาธารณสุขที่ได้รับการยอมรับ นับเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยดึงชาวต่างประเทศที่ชื่นชอบการตีกอล์ฟเข้ามาเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ ผ่านการกักกันตัวรูปแบบใหม่

ล่าสุดเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์แนวทางการกำหนดสถานกักกันในกิจการกอล์ฟ (golf quarantine) เพื่อรองรับความต้องการของชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศเพื่อเล่นกอล์ฟ และการทำกิจกรรมด้านสุขภาพในกิจการกอล์ฟที่กำหนด

สนามกอล์ฟหวั่นได้ไม่คุ้มเสีย

นายพรสิทธิ์ ศรีอรทัยกุล ประธานสนามกอล์ฟเดอะ อาร์จี ซิตี้ กอล์ฟคลับ และเดอะ อาร์จี ศาลายา กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ต คลับ ในฐานะนายกสมาคมสนามกอล์ฟแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เรื่องการใช้สนามกอล์ฟเป็นสถานที่กักตัวควอรันทีนนั้น สมาคมได้มีการประชุมกันอย่างต่อเนื่องมาประมาณ 2 เดือนแล้ว เบื้องต้นมีสนามกอล์ฟที่ได้รับผลกระทบจากจำนวนผู้มาใช้บริการลดลงหลังโควิด-19 ระบาด ได้แสดงความสนใจเข้าร่วมโครงการประมาณ 15 สนาม จากสมาชิกทั้งหมด 87 สนาม แต่ภายหลังจากที่ได้หารือก็ลดลงเหลือประมาณ 3-5 สนาม เป็นสนามกอล์ฟในภาคกลางและตะวันออก

นายพรสิทธิ์ระบุว่า สมาคมเห็นด้วยกับแนวคิดเรื่องการเปิดให้ใช้สนามกอล์ฟเป็นที่กักตัว หรือกอล์ฟควอรันทีน โดยในแง่ของการบริหารจัดการจะต้องเอาประเด็นเรื่องสาธารณสุขเป็นตัวตั้ง และมีเงื่อนไขหลาย ๆ อย่าง เช่น สนามกอล์ฟที่จะเข้าร่วมจะต้องเป็นสนามที่แยกแบบสแตนด์อะโลน มีรีสอร์ตรองรับนักกอล์ฟ ซึ่งต้องดูว่าจะมีดีมานด์มากขนาดไหน เพราะหากจะเข้าเป็นกอล์ฟควอรันทีน ก็ต้องมีการลงทุนที่สูงกว่าปกติ ทั้งเรื่องการดูแลสุขอนามัยของทั้งเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการ แคดดี้ เจ้าหน้าที่ประจำออฟฟิศ เป็นต้น ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะคุ้มค่าหรือไม่ ที่จะต้องปิดแอเรียเลย เพราะถ้าเป็นกอล์ฟควอรันทีนแล้ว จะไม่สามารถรับนักกอล์ฟอื่น ๆ ได้

“นอกจากนี้ก็ยังจะต้องพิจารณาด้วยว่า หมู่บ้านที่อยู่ในละแวกใกล้ ๆ กับสนามกอล์ฟจะมีปัญหาหรือไม่ เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมาที่คุยกัน ความกังวลเรื่องโควิด-19 เริ่มเบาบางลง แต่ตอนนี้โควิด-19 กลับมาระบาดครั้งใหม่ ก็ยังไม่รู้จะเป็นอย่างไร”

สำหรับสนามกอล์ฟเดอะ อาร์จี ซิตี้ กอล์ฟคลับ และเดอะ อาร์จี ศาลายา กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ต คลับ คงจะไม่เข้าร่วม โดยทั้ง 2 สนามมีเพียงแห่งเดียวที่มีรีสอร์ตเข้าตามหลักเกณฑ์ แต่การให้บริการจะเป็นระบบสมาชิก หากเข้าร่วมโครงการก็จะทำให้นักกอล์ฟไทย หรือสมาชิกไม่สามารถใช้บริการได้

หวั่น “เมมเบอร์-ลูกค้า” กระเจิง

นางสาวเปรมปรวีร์ ภูริโทธรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด สนามกอล์ฟซัมมิท วินด์มิลล์ กอล์ฟ คลับ ย่านบางนา-ตราด กม.10 แสดงความเห็นในรื่องนี้กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กลุ่มพันธมิตรสนามกอล์ฟในจังหวัดสมุทรปราการ 7 สนาม มีความเห็นสอดคล้องกันว่า ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการกอล์ฟควอรันทีนได้ เนื่องจากเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อฐานลูกค้าคนไทย ซึ่งเป็นกลุ่มทำรายได้หลักตั้งแต่มีการปิดน่านฟ้าจากมาตรการควบคุมและป้องกันโรคระบาดโควิด-19

นอกจากนี้ สนามกอล์ฟวินด์มิลล์ ที่มี 2 โรงแรมอยู่ในสนาม คือ ซัมมิท วินด์มิลล์ กอล์ฟ เรสซิเดนซ์ รายได้หลัก 100% ไม่ได้มาจากนักกอล์ฟเพียงอย่างเดียว แต่มาจากกิจกรรมการจัดประชุมสัมมนา การจัดอีเวนต์ งานแต่งงาน สามารถรองรับการประชุมหรืองานเลี้ยงขนาดใหญ่ได้ครั้งละ 1,000 คน ดังนั้น ถ้าหากนำสนามกอล์ฟทำกอล์ฟควอรันทีน จะทำให้ลูกค้าคนไทยรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย และไม่เข้ามาใช้บริการ

“ปัจจุบันตั้งแต่รัฐบาลปิดน่านฟ้า ลูกค้าของสนามเกือบทั้งหมดเป็นคนไทยกับลูกค้าต่างชาติที่ทำงานในเมืองไทย หรือ expat ซึ่งเราถือว่าเป็น residence พำนักอาศัยในเมืองไทยอยู่แล้ว ความเสี่ยงไม่มี มากินมาออกรอบที่นี่เขาต้องปลอดภัย แต่ถ้ามีคนจากต่างประเทศเข้ามาก็จะทำให้เขาจะเริ่มไม่ปลอดภัย”

นางสาวเปรมปรวีร์กล่าวว่า บิสซิเนสโมเดลของวินด์มิลล์ถูกออกแบบตั้งแต่แรกในการจัดสรรโควตารับนักกอล์ฟ กลุ่มใหญ่คือ สมาชิก 45% วิสิตเตอร์ 30-35% ลูกค้าทัวร์หรือลูกค้าเอเยนซี่เพียง 20-25% โดยวินด์มิลล์เป็นสนามกอล์ฟขนาด 18 หลุม เปิดบริการ 3 รอบ ได้แก่ รอบเช้า, รอบบ่าย และมิดไนต์กอล์ฟ เฉลี่ยมีนักกอล์ฟใช้บริการช่วงกลางวัน 300-350 คน/วัน และมิดไนต์กอล์ฟคืนละ 100 กว่าคน นโยบายควบคุมการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยทำให้ลูกค้ากลุ่มทัวร์หายไปเพียง 20-25% จึงถือว่าได้รับผลกระทบจากโควิดไม่มากนัก

ทาบดึง รพ.เป็นพาร์ตเนอร์

แหล่งข่าวระดับสูงจากโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” หลังจากมีประกาศและกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องกอล์ฟควอรันทีนออกมาเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ล่าสุดจากการพูดคุยกับผู้ประกอบการสนามกอล์ฟหลาย ๆ รายพบว่า ส่วนใหญ่ไม่มีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ เนื่องจากเกรงว่าหากเข้าร่วมโครงการนี้แล้วจะกระทบกับเมมเมอร์ เนื่องจากจะไม่สามารถเข้าเล่นได้ในช่วงที่เป็นกอล์ฟควอรันทีนได้

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ก็มีสนามกอล์ฟจำนวนหนึ่งที่มีการหารือกับโรงพยาบาลเอกชนเพื่อจะดึงมาเป็นพันธมิตรเครือข่าย และเท่าที่ทราบขณะนี้ มีผู้ประกอบกาสนามกอล์ฟจำนวนหนึ่งที่ยื่นใบสมัครเข้าไปที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และอยู่ระหว่างการตรวจประเมิน

“มาตรการนี้ออกมาช้าไปนิดหนึ่ง เพราะนี่ก็จะหมดช่วงไฮซีซั่นที่นักกอล์ฟจะมีตีกอล์ฟในเมืองไทยแล้ว ซึ่งหลัก ๆ ก็จะอยู่ในช่วงตุลาคม-ธันวาคม ปกติชาวเกาหลีจะเข้ามาตีกอล์ฟในเมืองไทยมากช่วงปลายปี แต่นี่เหลืออีก 2 สัปดาห์ก็จะสิ้นปีแล้ว หากทำเรื่องจะเข้ามาก็ต้องใช้เวลาอีกเป็นเดือน จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่อาจจะทำให้มีสนามกอล์ฟเข้าร่วมโครงการไม่มากนัก” แหล่งข่าวกล่าว

อ่านข่าวต้นฉบับ: กอล์ฟควอรันทีนส่อแป้ก “ต้นทุนพุ่ง-เงื่อนไขไม่ปัง”

Recommend more :

ช็อก! โควิดระลอกใหม่ ‘ดับฝัน’ คนท่องเที่ยว
“การบินไทย” ฉลุยไต่สวนนัด 2 แจงงบการเงิน “ทิพยฯ” ถอนคัดค้านผู้ทำแผนร่วม
ททท.บูม “เส้นทางสละโสด” ล่องเรือ-ขึ้นเครื่องบินเอาใจคนเหงา ไม่โสดซื้อไม่ได้!
เปิดวิจัยผลกระทบ “โควิด” กับทิศทาง “ท่องเที่ยว” ในอนาคต
“วัคซีน” คือความหวัง นโยบายรัฐคือโอกาสเปิดรับนักท่องเที่ยว
13 เม.ย. ห้ามสายการบิน เสิร์ฟอาหาร-เครื่องดื่ม ให้ใส่แมสก์ตลอดเวลา
“นายเลิศกรุ๊ป” ขยายไลน์ ตั้งโรงเรียนสอนการทำอาหาร
ผู้บริหาร “นกแอร์” ทยอยลาออก เปิดทางฟื้นฟูกิจการ
“บินไทย” รุกเปิดคีออสขายปาท่องโก๋รับกระแสแห่งแรก ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์
บางกอกแอร์เวย์ส ปรับตารางบิน-ปิดเลานจ์ชั่วคราว รับมือโควิด
เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 เปิดวิธีการใช้สิทธิ์ใหม่ เริ่ม พ.ค.-ส.ค. 64
จ่อฟัน “โรงแรม-ร้านค้า” ทุจริต “เราเที่ยวด้วยกัน” โทษสูงสุดทั้งคดีแพ่ง-อาญา

Leave a Reply