ตลอดทั้งปี 2563 นี้ “การบินไทย” ยังคงได้รับผลกระทบต่อเน
อ่านข่าวต้นฉบับ: “การบินไทย” จ่อ Take off ตั้งเป้า 5 ปีรายได้ฟื้นแตะแสนล้าน

ตลอดทั้งปี 2563 นี้ “การบินไทย” ยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากมาตรการจํากัดการเดินทางระหว่างประเทศทั้งของประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ถึงวันนี้ไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 9

ทั้งนี้ เนื่องจากรายได้หลักของการบินไทยนั้นมาจากการให้บริการเส้นทางการบินระหว่างประเทศ ขณะที่เส้นทางการบินภายในประเทศนั้น การบินไทยก็ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามแผน

โดย “การบินไทย” ตกอยู่ในภาวะประสบปัญหาด้านการเงินอย่างหนัก โดยเฉพาะเรื่องรายได้ที่ลดลง บวกกับภาวะหนี้สะสมที่ยิ่งทวีคูณจากผลกระทบจากการที่ขาดทุนในช่วง 10 ปีหลังที่ผ่านมา จนต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูของศาลล้มละลายกลางเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ปรับโครงสร้างพร้อมรุก

“ชาญศิลป์ ตรีนุชกร” รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI บอกว่า บริษัทอยู่ระหว่างการจัดทำแผนธุรกิจ การกำหนดแผนการบิน ตลอดจนการปรับโครงสร้างองค์กรให้เหมาะสมเพื่อเตรียมความพร้อมที่จะให้บริการและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมการบิน เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) คลี่คลายลง

ชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
ชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

สำหรับในส่วนของความคืบหน้าในการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการนั้น ขณะนี้บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายกำลังจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ คาดว่าจะสามารถยื่นได้ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งได้ขอเลื่อนเวลาจากเดิมที่ต้องยื่น 2 มกราคม 2564 จากนั้นน่าจะประชุมเจ้าหนี้ได้ในช่วงกลางเดือนมีนาคม หากเจ้าหนี้เห็นชอบ ประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2564 จะทำให้บริษัทสามารถดำเนินการตามไทม์ไลน์เดิมต่อไปได้

มุ่งจัดทัพองค์กรอีกระลอก

“นนท์ กลินทะ” รักษาการ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาอย่างยั่งยืน ให้ข้อมูลถึงทิศทางและแผนธุรกิจของการบินไทยว่า โดยหลัก ๆ แล้วบริษัทจะยังคงมุ่งหารายได้เพิ่มจากทุกบิสซิเนสยูนิต รวมถึงให้บริการสายการบินอื่น ๆ และลดต้นทุนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปรับปรุงวิธีการทำงานให้เป็นมาตรฐานสากล

นอกจากนี้ ยังมีแผนปรับแผนกลยุทธ์ด้านการขาย ทั้งในเรื่องของโครงสร้างราคา, ช่องทางการจำหน่าย ฯลฯ เพื่อให้สอดรับกับภาวะตลาด

พร้อมทั้งระบุว่า “การบินไทย” มีแผนจะเพิ่มเส้นทางการบินอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 นี้ให้บริการอยู่ประมาณ 25-30 จุดหมายปลายทาง (ไทยสมายล์) และคาดว่าจะเพิ่มเป็นประมาณ 45-55 จุดหมายปลายทางในปี 2564 และเพิ่มเป็น 75-80 จุดหมายปลายทางในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2568

โดยปี (2563) นี้มีปริมาณการใช้เครื่องบิน 17-25 ลำ (รวมไทยสมายล์) และเพิ่มเป็น 37-45 ลำในปี 2564 และคาดว่าจะเพิ่มเป็นประมาณ 75 ลำ ในปี 2568 ซึ่งจะมีปริมาณลดลงประมาณ 25% จากปี 2562

คาดปีนี้รายได้ 1.38 หมื่นล้าน

“นนท์” ยังบอกด้วยว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาบริษัทการบินไทยไม่ได้หยุดนิ่งในการดำเนินงาน ยังคงเดินหน้าสร้างรายได้จากทุกภาคส่วนอย่างเข้มข้น โดยคาดรายได้รวมในช่วงมกราคม-มีนาคม (ก่อนโควิด) มีจำนวน 8,675 ล้านบาท และประมาณการรายได้รวมช่วงเมษายน-ธันวาคม 2563 มีจำนวน 5,204 ล้านบาท รวมรายได้ทั้งปี 2563 จำนวน 13,879 ล้านบาท

โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา บริษัทได้ปรับปรุงกระบวนการทำงานของฝ่ายต่าง ๆ เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานตามแผนของบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งหากเป็นไปตามแผนงานจะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 4,000 ล้านบาท

มุ่งเพิ่มรายได้ Non-flight

รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาอย่างยั่งยืน ยังบอกด้วยว่า คาดว่ารายได้ในปี 2568 รวมประมาณ 1.25 แสนล้านบาท หรือต่ำกว่าปี 2652 ประมาณ 25% และน่าจะสามารถลดต้นทุนการดำเนินงานได้ประมาณ 36%

ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2564-2565 รายได้หลักของการบินไทยจะมาจากรายได้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการขนส่งผู้โดยสาร หรือ non-flight เป็นหลัก อาทิ ธุรกิจให้บริการภาคพื้น, แคเทอริ่ง, ซ่อมบำรุง, ขนส่งสินค้า (คาร์โก้) ฯลฯ ส่วนรายได้จากธุรกิจการบินนั้นจะเริ่มมีความชัดเจนในปี 2566 เป็นต้นไป หรือมีรายได้ประมาณ 60-70% เมื่อเทียบกับปี 2562

พร้อม Take off อีกรอบ

โดยในช่วงเมษายน-พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา บริษัทการบินไทยให้บริการเที่ยวบินโดยสาร, ชาร์เตอร์ไฟลต์ และเที่ยวบินที่ขนส่งผู้โดยสารและคาร์โก้รวม 1,593 เที่ยวบิน จำนวนผู้โดยสารรวม 27.827 คน และขนส่งสินค้า (คาร์โก้) รวม 34,256 ตัน

สำหรับปี 2564 นี้ บริษัทมีแผนเปิดให้บริการเส้นทางบินในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2564 จำนวน 18 เที่ยวบินต่อสัปดาห์สู่ 10 เมืองหลัก ได้แก่ ลอนดอน,แฟรงก์เฟิร์ต, โคเปนเฮเกน, โตเกียว, โอซากา, โซล, ฮ่องกง, ไทเป, มะนิลา และซิดนีย์

นอกจากนี้ หากปีหน้ามีวัคซีนโควิดออกมา บริษัทยังมีความพร้อมสำหรับเป็นเที่ยวบินขนส่งวัคซีนโควิดอีกด้วย

ย้ำแผนฟื้นฟูต้องรอบคอบ

“ชาญศิลป์” ยังเพิ่มเติมถึงแนวทางการจัดทำแผนฟื้นฟูด้วยว่า การดำเนินงานทั้งหมดมีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะมาก จึงต้องเป็นไปโดยละเอียดรอบคอบ

โดยในส่วนของการจัดกลุ่มเจ้าหนี้และการกำหนดเงื่อนไขในการได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้นั้น จะถูกพิจารณาอย่างเป็นธรรมและเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการมากกว่ากรณีที่การบินไทยต้องล้มละลายอย่างแน่นอน

โดยผู้ทำแผนจะรับฟังข้อคิดเห็นของเจ้าหนี้ให้มากที่สุด เพื่อนำมาใช้ประกอบการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ และหากแผนฟื้นฟูกิจการถูกจัดทำขึ้นจนสมบูรณ์แล้ว บริษัทจะเปิดเผยข้อมูลและชี้แจงรายละเอียดให้เจ้าหนี้ได้ทราบต่อไป

พร้อมเน้นย้ำว่า การฟื้นฟูกิจการของ “การบินไทย” จะพยายามเสนอแผนฟื้นฟูกิจการที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงสภาวะทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเจ้าหนี้ต่อไป

อ่านข่าวต้นฉบับ: “การบินไทย” จ่อ Take off ตั้งเป้า 5 ปีรายได้ฟื้นแตะแสนล้าน

Recommend more :

โรงแรมหรู เปิดพื้นที่ริมสระให้ “แกลมปิ้ง” นอนนับดาวใจกลางเมือง
ททท.บูม “เส้นทางสละโสด” ล่องเรือ-ขึ้นเครื่องบินเอาใจคนเหงา ไม่โสดซื้อไม่ได้!
หวั่นโควิดทุบเศรษฐกิจ (อีกรอบ) ชี้ธุรกิจถึงจุดต่ำสุด-หมดแรงต้าน
นกแอร์ ลด 300 บาท ผู้โดยสารถูกยกเลิกเที่ยวบินทุกสายการบิน
เราเที่ยวด้วยกัน โครงการสนับสนุนการท่องเที่ยวของภาครัฐ
“ดุสิตธานี” ขาดทุนปี’63 พันล้าน ลุ้นท่องเที่ยวฟื้นครึ่งปีหลังปี’64
ศรีพันวา เปิดรับ 70 นักท่องเที่ยวต่างชาติ ใช้ระบบกักตัวรูปแบบใหม่
“ไทยเวียตเจ็ท” รุกเพิ่มฝูงบิน รับขยายเส้นทางบินภายในประเทศ
การบินไทย ออกเกณฑ์ใช้ตั๋วเครื่องบินใหม่ ผู้บริหารบินฟรี 15 ปี
ททท.ตั้งเป้าอีก 2 ปี เที่ยวไทยขยับสู่ “กลุ่มคุณภาพ”
“บุ๊กกิ้งดอทคอม” ชี้ธุรกิจร่วง ไร้สัญญาณบวก หวังปี’64 ฟื้น
เช็กเงื่อนไข “ทัวร์ เที่ยว ไทย” รับ 5,000 บาท 1 ล้านสิทธิ์ เริ่มเดือน พ.ค.

Leave a Reply