รัฐบาลไทยมีความพยายามในการขับเคลื่อนนโยบาย “เปิดประเทศ”
อ่านข่าวต้นฉบับ: ไทม์ไลน์เปิดรับ “ต่างชาติ” คนท่องเที่ยวลุ้นเลิกมาตรการกักตัว

รัฐบาลไทยมีความพยายามในการขับเคลื่อนนโยบาย “เปิดประเทศ” รับชาวต่างชาติมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การเปิดระยะที่ 1 ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.) ได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 30 มิถุนายน 2563

โดยเริ่มจากมีมติอนุมัติให้ชาวต่างชาติ 6 กลุ่มแรก ประกอบด้วย

1.คู่สมรสและบุตรของผู้มีใบอนุญาตทำงาน หรือได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ทำงานในราชอาณาจักร

2.ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยแต่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร หรือคนต่างด้าวที่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร

3.คู่สมรสต่างชาติและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้มีสัญชาติไทย

4.ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย แต่มีความจำเป็นต้องเข้ามารับการรักษาพยาบาลในประเทศไทยและผู้ติดตาม โดยให้การรักษาเพียงบางโรค และไม่ใช่การรับรักษาการป่วยด้วยโควิด-19 ในไทย

5.นักเรียน นักศึกษาต่างชาติ และผู้ปกครองของบุคคลดังกล่าว

และ 6.ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยแต่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าราชอาณาจักรตามข้อตกลงพิเศษกับประเทศเป้าหมาย

จากนั้น 22 กรกฎาคม 2563 ศบค.ได้อนุญาตให้ต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้อีก 4 กลุ่ม ได้แก่

1.กลุ่มผู้จัดแสดงสินค้า สำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาจัดแสดงสินค้าในประเทศไทย

2.คณะถ่ายทำภาพยนตร์ ซึ่งเป็นกลุ่มชาวต่างชาติ ที่เดินทางเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์

3.กลุ่มแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานต่างชาติ 3 สัญชาติ ตามข้อกำหนด MOU เพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะธุรกิจก่อสร้างและผลิตอาหาร ที่ประสบปัญหาขาดแรงงาน

และ 4.กลุ่มผู้รับบริการทางการแพทย์ หรือกลุ่มชาวต่างชาติที่เข้ามาเพื่อรับการรักษาพยาบาล

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้ถือบัตร Thailand Elite Card ซึ่งมีกว่า 1 หมื่นราย ซึ่งอาจเป็นทั้งนักธุรกิจ ผู้เข้ามารับการรักษาพยาบาล หรือเป็นคู่สมรสของผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยทุกกลุ่มยังคงต้องปฏิบัติตัวตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการกักตัว 14 วัน

ต่อมา 15 กันยายน 2563 ครม.ได้พิจารณาอนุมัติหลักการ แนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ หรือ special tourist visa (STV) สำหรับบุคคลที่ต้องการเข้ามาพำนักระยะยาว โดยมีสิทธิขอรับการตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยวเป็นพิเศษ โดยเสียค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา ครั้งละ 2,000 บาท ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลา 90 วัน

หลังจากที่ครบกำหนดเวลาอนุญาต 90 วันแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองมีอำนาจอนุญาตให้อยู่ต่อไปได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 90 วัน (รวม 270 วัน) โดยคนต่างด้าวต้องยื่นคำขอตามแบบและเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนด โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศ จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564

ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศยังเดินหน้านโยบายเปิดรับชาวต่างชาติตามนโยบายของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง โดยนอกจากการเปิดรับชาวต่างชาติแบบเฉพาะกลุ่มแล้ว ล่าสุดนี้ได้ปลดล็อกสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วไปกลุ่ม ผ.30 จำนวน 56 ประเทศให้เข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า โดยใช้เพียงแค่หนังสือรับรองเพื่อเดินทางเข้าประเทศไทย หรือใบ COE และกักตัว 14 วัน

ชาวต่างชาติที่ประสงค์จะเดินทางเข้าไทยสามารถยื่นขอ COE ช่องทางออนไลน์ผ่าน www.coethailand.mfa.go.th พร้อมนำบุ๊กกิ้ง ตั๋วโดยสารเครื่องบิน ประกันการเดินทาง บุ๊กกิ้งโรงแรมมาอัพโหลด จากนั้นทางสถานทูตจะอนุมัติ COE เพื่อเดินทาง

โดยขั้นตอนการเดินทางมายังประเทศไทยสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินั้นประกอบด้วย 6 ขั้นตอนหลัก ได้แก่

1.ตรวจสอบประเภทวีซ่าที่เหมาะสมกับระยะเวลาที่จะพำนักในประเทศไทยและติดต่อสถานทูต/สถานกงสุลใหญ่เพื่อขอวีซ่า (กรณีไม่ได้รับการยกเว้นวีซ่า)

2.ลงทะเบียนขอรับ COE ผ่านเว็บไซต์ coethailand.mfa.go.th (รออนุมัติลงทะเบียนภายใน 3 วันทำการ)

3.จัดหาตั๋วเครื่องบิน สถานที่กักกันตัว ASQ/ALQ/AHO/GQ (ภายใน 15 วันหลังจากได้รับการอนุมัติลงทะเบียน)

4.สถานทูต/สถานกงสุลใหญ่ตรวจสอบข้อมูลและอนุมัติ COE (ภายใน 3 วันหลังจากส่งเอกสาร)

และ 5.จัดหาใบรับรองแพทย์ fit to fly และผลตรวจ COVID-19 (RT-PCR) ที่มีอายุไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทางจากต้นทางเพื่อแสดงต่อสายการบิน

สำหรับในส่วนของสายการบินที่ให้บริการนั้นที่ผ่านมาทางกระทรวงการต่างประเทศได้ร่วมกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) จัดหาเที่ยวบินกึ่งพาณิชย์ (semicommercial flights) ให้บริการมาเป็นระยะ โดยในช่วงตั้งแต่ 1 กันยายน-31 ตุลาคม 2563 มีสายการบินพาณิชย์ 9 สายที่ให้บริการ ประกอบด้วย เอมิเรตส์, กาตาร์, เอทิฮัด, คาเธ่ย์ แปซิฟิค, ลุฟท์ฮันซ่า, สวิส แอร์, ออสเตรเลียน แอร์ไลน์, อีวีเอ แอร์ และการบินไทย นำร่องให้บริการเที่ยวบินกึ่งพาณิชย์มายังประเทศไทย

และตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2563 ก็ได้อนุญาตให้สายการบินทั่วไปสามารถให้บริการเที่ยวบินแบบกึ่งพาณิชย์ได้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางมายังประเทศไทยให้แก่ผู้เดินทางทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

โดยปัจจุบันมีสายการบินที่ให้บริการเที่ยวบินกึ่งพาณิชย์มายังประเทศไทยจำนวน 44 สายการบิน และตั้งแต่ 2 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมาท่าอากาศยานภูเก็ตอนุญาตให้เที่ยวบินระหว่างประเทศสามารถนำผู้โดยสารมาลงที่ท่าอากาศยานภูเก็ตได้

ในส่วนของสถานที่กักกันตัวทางเลือกนั้นตัวเลข ณ 21 ธันวาคม 2563 มีจำนวนโรงแรม ASQ (alternative state quarantine) จำนวน 122 โรงแรม รวม 15,766 ห้อง (กรุงเทพฯ และปริมณฑล) โรงแรม ALQ (alternative local quarantine) จำนวน 47 โรงแรม รวม 4,686 ห้องใน 9 จังหวัด ประกอบด้วย ชลบุรี, ภูเก็ต, ปราจีนบุรี, มุกดาหาร, เชียงใหม่, เชียงราย, พังงา, สุราษฎร์ธานี และบุรีรัมย์

โรงพยาบาล/คลินิก AHQ (alternative hospital quarantine) จำนวน 172 แห่งทั่วประเทศ และสนามกอล์ฟ GQ (golf quarantine) ซึ่งปัจจุบันกรมสนับสนุนบริการสุขภาพอยู่ระหว่างการตรวจประเมินสนามกอล์ฟ 6 แห่งใน 4 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี, ราชบุรี, กาญจนบุรี และเชียงใหม่

โดยประเด็นสำคัญที่สุด ณ เวลานี้ คือ ชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยทุกคนยังต้องกักตัว 14 วัน ตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข และล่าสุดมีกระแสว่าเร็ว ๆ นี้ กระทรวงสาธารณสุขกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาลดวันกักตัวจาก 14 วัน เป็น 10-4 วัน

อย่างไรก็ตาม ในฟากของกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวยังคงลุ้นให้รัฐบาลเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจากประเทศกลุ่มความเสี่ยงต่ำ โดยไม่ต้องกักตัวต่อไป…

อ่านข่าวต้นฉบับ: ไทม์ไลน์เปิดรับ “ต่างชาติ” คนท่องเที่ยวลุ้นเลิกมาตรการกักตัว

Recommend more :

“ทีเส็บ” MOU ภาคีเครือข่าย “เปิดเมืองปลอดภัย” 10 เมืองไมซ์
การบินไทยหมดสิทธิ์บริหารภาคพื้นสนามบินภูเก็ต การท่าฯ ส่ง AOTGA เสียบแทน
การบินไทย ยันพนักงานมั่นใจแผนฟื้นฟูฯ เดินหน้าสู่โครงสร้างองค์กรใหม่
เร่งคิกออฟไทยเที่ยวไทย หนุน “ผู้ประกอบการ” รอด
“ซี.พี.แลนด์” เชื่อมั่นเที่ยวไทย ทุ่มพันล้านลงทุนโรงแรมใหม่
เส้นทางคนโสด เต็มแล้ว 3 ทริป โสดอย่างเดียวไม่พอ ต้องเร็วด้วย
ลุ้น “วัคซีน” 15.5 ล้านโดส ปูพรม 10 เมืองท่องเที่ยวนำร่อง
“ทีเส็บ” จัด MICE Virtual Expoโชว์ศักยภาพไมซ์ไทย
“ชาญศิลป์” เคลียร์เจ้าหนี้ลงตัว สหกรณ์หนุนแผนฟื้นฟูการบินไทย
ธุรกิจการบินยังเดี้ยง เที่ยวบินสุวรรณภูมิ-ดอนเมืองวูบ 40-60%
ATTA ดันเปิดรับนักท่องเที่ยวเสี่ยงต่ำ ชี้ทางรอดเดียวท่องเที่ยวไทย
“บางกอกแอร์เวย์ส” คลอดมาตรการดูแลผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบโควิด-19

Leave a Reply