ในปี 2562 ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 3.06 ล้า
อ่านข่าวต้นฉบับ: เที่ยวไทย’63 สะดุด “โควิด” นักท่องเที่ยวต่างชาติหาย-รายได้เป็นศูนย์

ในปี 2562 ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 3.06 ล้านล้านบาท เติบโตราว 3% จากปี 2561 อันเป็นผลมาจากการหดตัวต่อเนื่องของตลาดต่างประเทศจนทำให้เติบโตน้อยกว่าเป้าหมาย

ททท.จึงวางเป้าสำหรับปี 2563 ไม่สูงนัก โดยคาดว่าประเทศไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 3.18 ล้านล้านบาท เติบโต 4% จากปี 2562 โดยแบ่งเป็นตลาดต่างประเทศ 2.02 ล้านล้านบาท เติบโต 3% จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40.8 ล้านคน และตลาดในประเทศ 1.16 ล้านล้านบาท เติบโต 5%จากนักท่องเที่ยว 172 คน-ครั้ง เติบโต 3%

โดยในช่วงเวลานั้นยังเชื่อมั่นว่าแม้ไทยจะยังคงเผชิญกับปัจจัยลบต่อเนื่อง แต่น่าจะสามารถฝ่าวิกฤตทางด้านเศรษฐกิจและดันให้ตลาดเติบโตได้

“โควิด” ทุบร่วงตั้งแต่ต้นปี

แต่ทันทีที่ก้าวสู่ช่วงเทศกาลตรุษจีน (25 มกราคม 2563) อันเป็นไฮซีซั่นของนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทย อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยก็เผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือในช่วงนั้นเรียกกันว่า “ไวรัสอู่ฮั่น” หรือ “ไวรัสโคโรน่า” ในจีนที่เริ่มเข้มข้นขึ้น ทำให้การเดินทางของนักท่องเที่ยวจีนที่กำลังหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทยหยุดชะงักลง นักท่องเที่ยวจีน บางส่วนที่เดินทางมาแล้วต่างรีบเดินทางเพราะกลัวว่าประเทศไทยจะปิดน่านฟ้า และพวกเขาจะไม่สามารถกลับคืนประเทศจีนได้

ประเทศไทยกลายเป็นประเทศแรกในโลกที่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่นอกจีนแผ่นดินใหญ่ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขของไทยก็ได้เฝ้าระวังกลุ่มผู้ที่ทำงานกับนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อไวรัสมากที่สุดอย่างใกล้ชิด แต่สุดท้ายก็พบจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเดือนมีนาคม

ขณะเดียวกัน “ไวรัสโควิด” ก็ได้แพร่ระบาดไปสู่หลาย ๆ ประเทศทั่วทุกภูมิภาคของโลกอย่างรวดเร็ว ทำให้องค์การอนามัยโลกประกาศให้การระบาดของโควิด-19 กลายเป็นการระบาดใหญ่ระดับโลก ในวันที่ 11 มีนาคม 2563

ณ เวลานั้น ททท.และภาคเอกชนท่องเที่ยวต่างประเมินสถานการณ์และคาดการณ์กันว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดอาจกระทบกับ “นักท่องเที่ยวจีน” ราว 3 เดือน หรือรุนแรงสุดไม่น่าจะเกิน 6 เดือน เช่นเดียวกับการแพร่ระบาดของโรคซาร์สเมื่อหลายปีก่อน

ปิดน่านฟ้า-ล็อกดาวน์ประเทศ

เมื่อสถานการณ์ทั่วโลกรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้มีผลในวันที่ 26 มีนาคม 2563 โดยมีประกาศห้ามออกนอกเคหสถานยามวิกาล ตั้งแต่คืนวันที่ 3 เมษายน 2563พร้อมสั่งให้ประชาชนชะลอการเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อควบคุมโรค

หลังจากนั้น “ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยอมรับว่า วิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ถือว่ารุนแรงที่สุด เพราะกระทบการเดินทาง การเคลื่อนย้ายคน และการอยู่ร่วมกันของคนจำนวนมาก ทำให้การท่องเที่ยวหายไปทั้งหมด ทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยเที่ยวไทย ส่งผลให้อัตราเข้าพักโรงแรมตกมาอยู่ที่ 0-5% เท่านั้น

ขณะที่ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประเมินภาพการท่องเที่ยว ณ ขณะนั้นว่า หากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สิ้นสุดในเดือนกรกฎาคม ประเทศไทยน่ายังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าสู่ประเทศปีนี้ราว
27 ล้านคน แต่หากสิ้นสุดในเดือนกันยายน คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในไทยในปีนี้น่าจะอยู่ที่ราว 20 ล้านคน

และหากสถานการณ์การแพร่ระบาดลากยาวไปจนถึงสิ้นปี ประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเที่ยวเมืองไทยอาจจะลดลงเหลือเพียงแค่ประมาณ 10 ล้านคน

นั่นหมายความว่า นอกจากจะต้องจัดการสถานการณ์โควิด-19 ให้จบเร็วที่สุดแล้ว ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยต้องหันมาพึ่งนักท่องเที่ยวไทยมากขึ้น

ด้านสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ได้ให้ข้อมูลในช่วงนั้นว่า มีแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวถูกเลิกจ้างไปไม่ต่ำกว่า 25-30% หรือคิดเป็นจำนวนกว่า 1-1.2 ล้านตำแหน่งงาน และมีผู้ถูกลดรายได้จากการถูกลดเงินเดือน การพักงาน และการลางานโดยไม่รับเงินเดือนรวมกว่า 3 ล้านตำแหน่ง

รัฐเร่งคลอดมาตรการเยียวยา

หลังจากพบว่าทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ผู้ประกอบการท่องเที่ยว และแรงงานได้รับผลกระทบอย่างหนัก รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นศูนย์มาตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 รัฐบาลจึงเร่งออกมาตรการเยียวยาและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโดยเร็ว ทั้งส่วนที่รวมกับผู้ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจด้านอื่น เพื่อช่วยเหลือเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยเฉพาะ

เช่น มาตรการเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19, มาตรการอุดหนุนประกันสังคมให้ช่วยจ่ายเงินชดเชยสำหรับแรงงานที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปิดกิจการชั่วคราว รวมถึงการออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวหลังคลายล็อกดาวน์ภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า “เที่ยวปันสุข”

2.24 หมื่น ล.หนุน “เที่ยวปันสุข”

วันที่ 16 มิถุนายน 2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการให้เดินหน้ากระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศโครงการ “เที่ยวปันสุข” ภายใต้งบประมาณรวม 22,400 ล้านบาท (15 กรกฎาคม-31 ตุลาคม 2563) แบ่งเป็น 2 โครงการย่อย คือ 1.โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” งบประมาณรวม 20,000 ล้านบาท และโครงการ “กำลังใจ” งบประมาณ 2,400 ล้านบาท

โดยโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” นั้น รัฐบาลสนับสนุนค่าโรงแรม ที่พัก ในสัดส่วน 40% หรือไม่เกิน 3,000 บาทต่อห้องต่อคืน (สูงสุดไม่เกิน 5 คืน) จำนวน 5 ล้านคืน (room night) สนับสนุนตั๋วเครื่องบิน ในสัดส่วน 40% แต่ไม่เกิน 1,000 บาทต่อเที่ยว จำนวน 2 ล้านสิทธิ์ และคูปองอาหาร/ค่าเข้าสถานที่ท่องเที่ยว จำนวน 600 บาทต่อวัน (สูงสุดไม่เกิน 5 วัน)

ส่วนโครงการ “กำลังใจ” นั้นเป็นโครงการพาอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) เที่ยวฟรี จำนวน 1.2 ล้านคน งบประมาณ 2,000 บาทต่อคน

ทั้งนี้ ตั้งเป้าไว้ว่าตลอดโครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดรายรับทางเศรษฐกิจรวม 1.39 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้แบ่งเป็นรายรับจากโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” จำนวน 1.23 แสนล้านบาท และจากโครงการ “กำลังใจ” จำนวน 1.58 หมื่นล้านบาท เพื่อก่อให้เกิดการจ้างงานภายใต้โครงการนี้อีกประมาณ 2.62 แสนคน

ไล่ปลดล็อก-กระตุ้นการเดินทาง

อย่างไรก็ตาม หลังจากเปิดตัวโครงการไป 4 เดือน (ตุลาคม) พบว่า โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ไม่ได้รับการตอบรับตามเป้าหมาย โดยมียอดจองสิทธิ์โรงแรมตามโครงการเพียงแค่ 30-40% เท่านั้น มีมูลค่าการใช้จ่ายงบประมาณสนับสนุนโครงการไปเพียงแค่ประมาณ 6,000 ล้านบาท

ทำให้รัฐบาลประกาศขยายโครงการเฟส 2 ทั้ง 2 โครงการไปสิ้นสุด 31 มกราคม 2564 พร้อมทั้งปรับปรุงเงื่อนไขการใช้สิทธิ์บางข้อเพื่อให้เกิดการใช้งานที่ง่ายขึ้น และสอดรับกับกำลังซื้อของคนไทยมากขึ้น

อาทิ เพิ่มจำนวนการใช้สิทธิ์ห้องพักจากสูงสุด 5 คืนต่อคน เป็น 10 คืนต่อคน เพิ่มมูลค่าสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบินจากเดิมสูงสุด 1,000 บาทต่อที่นั่ง เป็น 2,000 บาทต่อที่นั่ง รวมถึงใช้สิทธิ์ในภูมิลำเนาตามบัตรประชาชนได้ ฯลฯ ส่งผลการจองใช้สิทธิ์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และหมด 5 ล้านคืนในช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

แต่ก็ยังพบว่างบประมาณยังเหลือ รัฐบาลจึงได้ต่ออายุโครงการอีกครั้ง (เฟส 3) ให้ไปสิ้นสุด 30 เมษายน 2564 พร้อมทั้งเพิ่มสิทธิ์ห้องพักอีก 1 ล้านคืน สะดุดทุจริต “เราเที่ยวด้วยกัน”

หลังรัฐบาลปรับเงื่อนและปลดล็อกการใช้สิทธิ์ในเฟส 2 (ตุลาคม) ทำให้มียอดการจองใช้สิทธิ์เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจากประมาณ 14,000-15,000 คนต่อวัน ในช่วง 3 เดือนแรกของโครงการ เพิ่มเป็นประมาณ 50,000 คนต่อวัน ในช่วงกลางเดือนตุลาคม พร้อมทั้งเกิดกระแสข่าวการทุจริตของกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมมาเป็นระยะ

กระทั่งเช้าวันที่ 15 ธันวาคม 2563 นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ออกมาแถลงข่าวยอมรับว่าโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” มีปัญหาเรื่อง “ทุจริต” จริง พร้อมให้ข้อมูลว่า พบว่ามีผู้ประกอบการที่เข้าข่ายส่อทุจริตในส่วนของผู้ประกอบการโรงแรม 312 แห่ง และร้านค้า 202 ร้านค้า

โดยปัญหาที่พบมีหลากหลายรูปแบบ อาทิ เข้าพักโรงแรมราคาถูก (โฮเทล) เช็กอินเข้าโรงแรมแต่ไม่เข้าพัก ได้ประโยชน์จากการใช้คูปอง, โรงแรมขึ้นราคาค่าห้อง เพื่อรับส่วนต่าง, โรงแรมยังปิดกิจการ แต่มีการขายห้องพัก,เข้าพักจริง เป็นกรุ๊ปเหมา ได้เงินทอน, เปิดให้จองห้องพักจำนวนมากกว่าห้องพักที่มีอยู่จริง (over capacity) แล้วส่งต่อให้โรงแรมอื่นเพื่อกินส่วนต่าง เป็นต้น

ประเด็นดังกล่าวนี้ ทางผู้ว่าการ ททท.ได้ไปยื่นหนังสือที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อขอให้ตรวจสอบข้อมูลผู้เข้าข่ายกระทำผิดไปแล้วเมื่อ 16 ธันวาคม 2563 ทั้งนี้ หากพบว่ามีการทุจริตจริง ททท.จะขึ้นแบล็กลิสต์และตัดสิทธิ์ไม่ให้ผู้ประกอบการเหล่านี้เข้าร่วมมาตรการรัฐทั้งหมดทุกโครงการในอนาคต และเรียกเงินคืนให้รัฐ

พร้อมทั้งดำเนินคดีด้านกฎหมายขั้นสูงสุดทั้งทางแพ่งและอาญา เนื่องจากถือเป็นการทุจริตเงินรัฐ นอกจากนั้นจะทำการประกาศรายชื่อผู้ประกอบการที่ทุจริตทั้งหมดผ่านหน้าสื่อในทุกช่องทาง

ธุรกิจเข้าไม่ถึง “ซอฟต์โลน”

นอกจากโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” อีกหนึ่งในมาตรการเยียวยาที่มีปัญหามากที่สุด และได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการมากที่สุด คือ โครงการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ “ซอฟต์โลน”

โดยรัฐบาลยังได้ออกมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ ด้วยการเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการในภาคธุรกิจท่องเที่ยวภายใต้วงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 1.5 แสนล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% ระยะเวลา 2 ปี วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย รวมถึงมาตรการพักชำระหนี้ ฯลฯ ที่ทยอยออกมาเป็นระยะผ่านธนาคารของรัฐ

ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งเงินจำนวน 1 หมื่นล้านบาท (จาก 1.5 แสนล้านบาท) ให้กับธนาคารออมสิน เพื่อปล่อยกู้ให้แก่ผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวเป็นการเฉพาะ เพื่อประคองให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ในภาวะเช่นนี้

แต่เนื่องจากผู้ประกอบการในภาคธุรกิจท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก และขนาดกลาง ไม่มีสินทรัพย์ ไม่มีระบบบัญชีที่แสดงรายได้รายจ่าย และตัวเลขผลกำไรที่ชัดเจน ทำให้ไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารกระทั่งสิ้นสุดปี 2563 ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็ยังเข้าถึงซอฟต์โลนได้ในอัตราที่ต่ำมาก

ดันเปิดรับ นทท.ประเทศเสี่ยงต่ำ

นับจากวันที่รัฐบาลไทยประกาศปิดน่านฟ้าเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2563 ถึงวันนี้ถือว่าภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาติดต่อกันนานถึง 9 เดือนเต็ม ๆ (ตั้งแต่เดือนเมษายน) ผู้ประกอบการ

โดยเฉพาะในกลุ่มตลาดอินบาวนด์มีรายได้เป็นศูนย์ติดต่อกันมาเป็นเดือนที่ 9 เช่นกัน ขณะที่รัฐบาลใช้นโยบายเปิดรับต่างชาติเฉพาะกลุ่มเป็นหลัก อาทิ กลุ่มนักธุรกิจ, กลุ่มเข้ามารักษาพยาบาล, กลุ่มสมาชิกอีลิทการ์ด, กลุ่มลองสเตย์ ฯลฯ ซึ่งยังต้องเข้ามากักตัว 14 วัน ตามข้อบังคับของกระทรวงสาธารณสุข

สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว หรือ ATTA ซึ่งดูแลตลาดทัวร์อินบาวนด์ (นักท่องเที่ยวขาเข้า) จึงได้พยายามวิเคราะห์ ศึกษา และมองหาโอกาสทางการตลาด เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการด้วยการเดินหน้าผลักดันแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวทั่วไปโดยไม่มีการกักตัว 14 วัน จากกลุ่มประเทศกลุ่มเสี่ยงต่ำ (สีเขียวเข้ม) พร้อมนำเสนอโมเดลการเปิดรับที่สามารถปฏิบัติและควบคุมได้จริงให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

โดยได้นำเสนอให้รัฐบาลเปิดรับนักท่องเที่ยวทั่วไปจากกลุ่มประเทศความเสี่ยงต่ำจำนวน 8 ประเทศ ประกอบด้วย จีน (22 มณฑล), เวียดนาม, ลาว, ไต้หวัน, นิวซีแลนด์, ออสเตรเลีย, ดูไบ และมาเก๊า

ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลพบว่าใน 8 ประเทศดังกล่าว ในปี 2562 ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวที่เข้ามาประเทศไทยราว 15 ล้านคน จากจำนวน 40 ล้านคน หรือเฉลี่ยประมาณ 1.2 ล้านคนต่อเดือน และในจำนวนนี้มีสัดส่วนรายได้รวมถึงประมาณ 40% ของรายได้จากตลาดต่างประเทศ 2 ล้านล้านบาท หากรัฐบาลเปิดรับและมีนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศเหล่านี้เดินทางเข้ามาสัก 10% จะทำให้มีรายได้ถึง 7.5 หมื่นล้านบาท

พร้อมระบุว่า แนวทางดังกล่าวนี้เป็นทางรอดเดียวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในขณะนี้ด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาภาคการท่องเที่ยวบางเซ็กเตอร์แทบไม่ได้รับการช่วยเหลือดูแลจากรัฐบาล

ขณะที่ล่าสุด สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงกลับมาระบาดในหลายประเทศ บวกกับความคืบหน้าของวัคซีนยังไม่ชัดเจนว่าจะสามารถออกมาใช้กันทั่วโลกได้เมื่อไหร่นี้ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายยังไม่สามารถคาดการณ์ภาพรวมของภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยในปี 2564 นี้ได้ชัดเจนนัก…

อ่านข่าวต้นฉบับ: เที่ยวไทย’63 สะดุด “โควิด” นักท่องเที่ยวต่างชาติหาย-รายได้เป็นศูนย์

Recommend more :

ปักหมุด 7 พื้นที่เช็กอินงานสีสันแห่งสายน้ำ : ลอยกระทง’63 ทั่วไทย
เคทีซีปรับทัพ ‘”KTC WORLD” รับเทรนด์ท่องเที่ยวเปลี่ยน
ธุรกิจใหม่ “ส่งบุญออนไลน์” ใส่บาตรยุค New Normal
รื้อแผนฟื้นฟูการบินไทย “ธ.กรุงเทพ-กรุงไทย” แท็กทีมขอเอี่ยวบริหาร
ททท.ยืนเป้า 1.2 ล้านล้าน (ยัน) เปิดประเทศ 1 ก.ค. ตามไทม์ไลน์
จับตา “การบินไทย” ประกาศผลโครงสร้างใหม่-ชี้ชะตาพนักงาน วันนี้
หมู่บ้านรักไทย ปิด 21 วัน สกัดโควิด คืนเงินจองโรงแรม-ร้านอาหาร
การบินไทย เปิด “สมัครใจลาออก” รอบ 2 ชดเชยสูงสุด 400 วัน
กองทุนวายุภักษ์ฯ ขายหุ้น “การบินไทย” ทำกำไร หลัง ตลท. เปิดเทรด 1 เดือน
บ้านดุสิตธานี รวมพลังขาย ‘ข้าวไข่เจียว’ ราคา 40 บาท คุณภาพโรงแรม 5 ดาว
มิติใหม่ “มาตรฐาน” เที่ยวไทย ต่างชาติเข้าไทยจ่าย 300 เข้ากองทุน
คิง เพาเวอร์ ลุยขายสินค้าทั้ง Duty Free และ Non Duty Free 

Leave a Reply