แผนฟื้นฟูกิจการ “บินไทย” สะดุด ทีมผู้ทำแผน “มองต่าง-เสี
อ่านข่าวต้นฉบับ: ทีมฟื้นฟู “การบินไทย” แตกหัก แผนสะดุดขอศาลเลื่อนรอบ 2

แผนฟื้นฟูกิจการ “บินไทย” สะดุด ทีมผู้ทำแผน “มองต่าง-เสียงแตก” ขัดแย้งหลายประเด็น ปมร้อนว่าจ้างที่ปรึกษาการเงิน 630 ล้านบาท ศาลล้มละลายฯยกคำร้องว่าจ้าง “เกียรตินาคินภัทร” หลัง “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ไม่เห็นด้วย ทั้งมองต่างมุม “อุ้มไทยสมายล์-โละขายเครื่องบินกว่า 40 ลำ” วงในชี้ใกล้เดดไลน์ส่งแผนฟื้น 2 ก.พ.นี้ จำเป็นต้องยื่นศาลขอเลื่อนส่งแผนรอบ 2 เอฟเฟ็กต์ความขัดแย้งบานปลายส่งผลกระทบต้องเปลี่ยนทีม “ผู้บริหารแผน”

ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวว่า หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ฟื้นฟูกิจการเมื่อ 14 กันยายน 2563 พร้อมเห็นชอบให้บริษัท อีวาย คอร์ปอร์เรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด และคณะผู้จัดทำแผนอีก 6 คน ได้แก่ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายบุญทักษ์ หวังเจริญ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ซึ่งมีกำหนดต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการและส่งศาลในวันที่ 2 ม.ค. 2564 อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาผู้ทำแแผนได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนการส่งแผนฟื้นฟูมาแล้ว 1 ครั้ง ซึ่งศาลได้เห็นชอบให้เลื่อนเป็นวันที่ 2 ก.พ. 2564

ส่อเลื่อนส่งแผนฟื้นฟูรอบ 2

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยิ่งใกล้วันกำหนดส่งแผนฟื้นฟูบริษัทในวันที่ 2 ก.พ. 2564 ยิ่งพบว่าแนวทางการทำแผนของทีมผู้ทำแผนเริ่มไปคนละทางหนักขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ไม่สามารถทำแผนส่งศาลล้มละลายกลางได้ตามกำหนดเวลา จนต้องขอเลื่อนศาลมาแล้ว 1 ครั้ง จากกำหนดเดิมคือ 2 ม.ค. 2564 มาเป็น 2 ก.พ.นี้ โดยล่าสุดมีความเป็นได้ว่า ทีมผู้ทำแผนจะขอเลื่อนส่งแผนฟื้นฟูครั้งที่ 2 อีก 1 เดือนไปเป็น 3 มี.ค. 2564 เนื่องจากรายละเอียดหลาย ๆ ประเด็นของแผนยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งจะเป็นโอกาสสุดท้าย ตามข้อกำหนดกฎหมายที่จะสามารถขอเลื่อนการส่งแผนฟื้นฟูได้เพียง 2 ครั้ง

“ที่ผ่านมาทีมผู้ทำแผนบางส่วนออกมาให้สัมภาษณ์ว่า บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการทำแผนฟื้นฟู และเป็นหนึ่งในทีมผู้ทำแผนได้ทำแผนฟื้นฟูเสร็จเรียบร้อย และได้ส่งให้ผู้ทำแผนทั้งหมดดูแล้ว รวมถึงยังได้นำไปคุยกับเจ้าหนี้รายใหญ่เพื่อรับฟังความเห็น และนำมาปรับปรุง แต่ก็ยังมีผู้ทำแผนบางรายมองว่า แผนดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์ 100% เนื่องจากขาดที่ปรึกษาด้านการเงินเข้ามาช่วยตรวจสอบข้อมูลโครงสร้างการเงิน ทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนกระบวนการจัดทำแผนให้เป็นไปตามเป้าหมายได้”

“ผู้ทำแผน” มองต่าง-เสียงแตก

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ปมร้อนที่กำลังเป็นข้อขัดแย้งในขณะนี้คือ ประเด็นการว่าจ้างบริษัท เกียรตินาคินภัทร มาเป็นที่ปรึกษาโครงสร้างทางการเงิน (FA) เพื่อเข้ามาช่วยหานักลงทุนและเงินทุน ด้วยค่าตอบแทน 630 ล้านบาท ซึ่งนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค และบริษัทอีวายฯไม่เห็นด้วย เนื่องจากมองว่าอำนาจหน้าที่ของคณะผู้ทำแผนทั้ง 7 คนนี้ มีอำนาจหน้าที่เพียงทำแผนฟื้นฟูให้เสร็จเพื่อให้ส่งศาลพิจารณาเห็นชอบเท่านั้น ส่วนอำนาจหน้าที่ในการจัดหา หรือว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อหาพันธมิตรเข้ามาลงทุน เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้บริหารแผนฟื้นฟู

ขณะที่พลอากาศเอกชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน, นายบุญทักษ์ หวังเจริญ, นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์, นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร มองว่าการจ้างบริษัทเกียรตินาคินภัทร มาเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) เป็นความจำเป็น เพื่อให้แผนฟื้นมีความสมบูรณ์ที่สุด

ศาลยกคำร้องจ้าง KKP

รายงานข่าวระบุว่า หลังจากที่ บริษัท ฟินันซ่า จำกัด (มหาชน) ถอนตัวจากการเป็นที่ปรึกษาด้านโครงสร้างทางการเงินไปเมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2563 ทางผู้จัดทำแผนได้เปิดคัดเลือกที่ปรึกษาการเงินใหม่ ซึ่งจะครอบคลุมทั้งการเป็นที่ปรึกษาการเงินการทำแผนฟื้นฟู รวมถึงในการหาพันธมิตรเข้ามาใส่เงินเพิ่มทุน โดยมีเสนอเข้ามา 2 กลุ่มคือ กลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ เสนอราคาประมาณ 900 ล้านบาท และกลุ่มเกียรตินาคินภัทร (KKP) เสนอราคา 630 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขจะต้องสามารถหาพันธมิตรใหม่เข้ามาร่วมทุนสำเร็จ แต่เนื่องจากหนึ่งในผู้ทำแผนไม่เห็นด้วยกับการว่าจ้างที่ปรึกษาด้วยวงเงินสูงขนาดนั้น

ดังนั้น ทางคณะผู้ทำแผนจึงได้พิจารณาปรับลดบทบาทการทำงานเฉพาะในส่วนของการเป็นที่ปรึกษาการเงินในการทำแผนฟื้นฟู ด้วยค่าตอบแทนเดือนละ 8 ล้านบาท เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบโมเดลการเงินต่าง ๆ รวมทั้งแผนการลดทุน เพิ่มทุน เพื่อให้แผนฟื้นฟูการบินไทยที่จะส่งให้ศาลมีความสมบูรณ์ครบถ้วน และให้เจ้าหนี้เห็นชอบโดยได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอความเห็นชอบในการว่าจ้างเกียรตินาคินภัทรเป็นที่ปรึกษาการเงิน อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2564 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ทำแผน โดยศาลระบุว่าเนื่องจากคำร้องดังกล่าวยังมีผู้ทำแผนบางรายมีความเห็นแย้ง

“ไทยสมายล์” ปัญหาใหญ่

นอกจากนี้ ประเด็นที่มีความเห็นต่างกันมากที่สุดอีกเรื่องคือ เรื่องของ “ไทยสมายล์” สายการบินลูกที่การบินไทยถือหุ้นอยู่ 100% ที่บริหารโดยบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ส จำกัด ควรเก็บไว้หรือไม่ โดยเสียงบางส่วนของผู้ทำแผนมองว่าควรแยกการบริหารออกไป เพื่อลดภาระบริษัทแม่ เนื่องจากไทยสมายล์ขาดทุนมาตลอดตั้งแต่เปิดดำเนินการ ณ สิ้นปี 2562 มีตัวเลขขาดทุนสะสมอยู่ถึงราว 8 หมื่นล้านบาท และมีหนี้สินรวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท

และหากดูแนวทางการฟื้นฟูของสายการบินใหญ่ ๆ ทั่วโลก ทุกสายการบินที่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูต่างใช้วิธีตัดสายการบินลูกออกไปทั้งสิ้น

แหล่งข่าวยังกล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ บริษัท แมคคินซี่แอนด์โค ที่ปรึกษาด้านธุรกิจการบินก็ได้ให้คำปรึกษา และผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจการบินก็ได้แนะนำให้ผู้ทำแผนฟื้นฟูพิจารณาตัดไทยสมายล์ออกไปเช่นกัน เพราะสถานะของการบินไทยไม่สามารถแบกรับภาระหนี้ของไทยสมายล์ได้ ซึ่งแนวทางดังกล่าวนี้ก็เป็นแนวทางที่ทางบริษัท อีวายฯก็เห็นด้วยเช่นกัน แต่ก็มีผู้ทำแผนบางรายไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว

ปมโละขายเครื่องบิน 40 ลำ

แหล่งข่าวอีกรายกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประเด็นการประกาศโละขายเครื่องบิน 2 ลอต รวมกว่า 40 ลำ ก็เป็นอีกประเด็นที่ทีมผู้ทำแผนมีความเห็นต่างโดยกลุ่มหนึ่งประเมินว่าโครงสร้างธุรกิจใหม่ของการบินไทยจะต้องลดขนาดองค์กรให้เล็กลง และหยุดให้บริการเส้นทางการบินที่ขาดทุน โดยประเมินว่าการบินไทยน่าจะมีความจำเป็นใช้เครื่องบินทั้งหมดประมาณ 40-45 ลำ ดังนั้น เครื่องบินไม่ได้ใช้งานที่เหลืออีกกว่า 40 ลำควรโละขายทิ้งเพื่อลดภาระด้านการบำรุงรักษา และหาเงินมาสร้างสภาพคล่องให้บริษัทเป็นแนวทางที่ดีกว่า

ขณะที่ผู้ทำแผนบางส่วนมองว่าธุรกิจสายการบิน เครื่องบินคือเครื่องมือทำมาหากินหลัก จึงไม่ควรโละขายออกไปจำนวนมากขนาดนี้ เพราะเครื่องบินบางลำที่ประกาศขายนั้นหมดภาระหนี้สินแล้ว ที่สำคัญ หากสถานการณ์ฟื้นกลับมาดีขึ้น การลงทุนซื้อเครื่องใหม่ก็จะเป็นต้นทุนที่สูงมหาศาล

ขายที่ดิน-หุ้นบริษัทในเครือ

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการขายที่ดิน (หลักสี่-ดอนเมือง) และหุ้นของบริษัทย่อย เพื่อนำเงินมาเสริมสภาพคล่อง โดยผู้ทำแผนส่วนใหญ่มองว่า บริษัทยังต้องเผชิญปัญหาสภาพคล่องต่อเนื่อง เพราะลำพังรายได้จากการให้บริการเที่ยวบินพิเศษรับคนไทยเดินทางกลับบ้าน การขนส่งคาร์โก้ ซ่อมบำรุง รวมถึงครัวการบิน และขายปาท่องโก๋ น้อยมากรวมไม่ถึง 1,000 ล้านบาทต่อเดือน เมื่อเทียบกับปกติที่มีรายได้ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาทต่อเดือน ขณะที่ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ราว 2,000 ล้านบาทต่อเดือน ทำให้บริษัทยังอยู่ในภาวะขาดทุนต่อเนื่องทุกเดือน

“ประเด็นนี้หลายคนมองว่า การบินไทยไม่ควรนำทรัพย์สินที่มีมาตัดขายออกแบบนี้ เนื่องจากเป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อเจ้าหนี้โดยตรง พร้อมยกตัวอย่างกรณีที่การบินไทยตัดขายหุ้นในบริษัทบริการเชื้อเพลิงกรุงเทพ หรือ BAFS มูลค่า 2.7 พันล้านบาท และยังมีข่าวว่าผู้ทำแผนจะขายหุ้นในบริษัทไทย-อะมาดิอุส ที่การบินไทยถือหุ้นอยู่ 55% อีกด้วย”

เปลี่ยนทีม “ผู้บริหารแผน”

แหล่งข่าวกล่าวว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เพียงที่ผู้ทำแผนต้องยื่นขอเลื่อนเวลาการส่งแผนฟื้นฟูอีกรอบ นอกจากนี้ในส่วนของ “ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ” ซึ่งจะเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูนั้น ซึ่งในกรณีปกติที่เจ้าหนี้และศาลเห็นชอบต่อแผนตามที่ผู้ทำแผนจัดทำ ก็จะให้ผู้ทำแผนซึ่งเป็นผู้บริหารองค์กร รับหน้าที่เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ เพราะถือว่าเป็นบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจและแผนการฟื้นฟูกิจการ แต่จากกรณีปัญหาความขัดแย้งของทีมผู้ทำแผนที่ค่อนข้างรุนแรง ทำให้ที่สุดจะต้องมีการปรับเปลี่ยนทีม “ผู้บริหารแผน” เพื่อให้การดำเนินงานหลังจากนี้มีความราบรื่น

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า การจัดทำแผนฟื้นฟูมีรายละเอียดปลีกย่อยจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ พร้อมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นของเจ้าหนี้ให้มากที่สุด เพื่อนำมาใช้ประกอบการจัดทำแผนฟื้นฟู โดยแผนที่ออกมาจะต้องสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจด้วย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเจ้าหนี้

“เราจะพยายามยื่นแผนฟื้นฟูต่อศาลให้ทันตามกำหนดวันที่ 2 ก.พ.นี้ แต่หากยื่นไม่ทันจริง ๆ ก็สามารถยื่นขอศาลขยายระยะเวลาส่งแผนฟื้นฟูออกไปได้อีก 1 เดือน เพื่อให้บริษัทมีเวลาเจรจากับเจ้าหนี้ และที่ปรึกษา เพื่อให้เร่งหาข้อสรุปให้ครบถ้วน”

อ่านข่าวต้นฉบับ: ทีมฟื้นฟู “การบินไทย” แตกหัก แผนสะดุดขอศาลเลื่อนรอบ 2

Recommend more :

“ดุสิตธานี” ฝ่าวิกฤตโควิด-Q1 กวาดกำไร 74 ล้าน
พัทยา ทุ่ม 755 ล้านบูมเกาะล้าน-นาเกลือ กระตุ้นนักท่องเที่ยว 
“รถทัวร์นำเที่ยว” ตายสนิท (คาด) ปี’65 เหลือไม่ถึงหมื่นคัน
ลุ้น “เที่ยวไทยวัยเก๋า” ล้านสิทธิ สั่งทบทวน-หวั่นราคาเกินจริง
อพท.ดัน “น่านเน้อเจ้า” ก้าวสู่เมืองสร้างสรรค์ยูเนสโกปี’64
ประเดิมก๊วนแรก นักกอล์ฟเกาหลี 41 คน เข้าพัก-กักตัว Golf Quarantine
ประวัติ โรงแรมดาราเทวี ดราม่าตั้งแต่ก่อสร้าง ยันปิดกิจการ
เช็คขั้นตอน ช่องทาง การจองโรงแรม “เราเที่ยวด้วยกัน”
“การบินไทย” ส่ง CFO-ผู้ตรวจบัญชี ขึ้นศาลล้มละลายไต่สวนการงิน
ททท.ภูมิภาคภาคกลางหนุนการเดินทางท่องเที่ยว Lifestyle Travel@ภาคกลาง
ลุ้น “วัคซีน” 15.5 ล้านโดส ปูพรม 10 เมืองท่องเที่ยวนำร่อง
เปิดวิชั่น 3 บิ๊กท่องเที่ยว แคนดิเดต ประธาน สทท. คนใหม่

Leave a Reply