วิกฤต ! โรงแรม-ที่พัก 3,700 แห่งในพื้นที่ 20 จังหวัดเข้
อ่านข่าวต้นฉบับ: โรงแรม 3.7 พันแห่ง ปิดตาย ทุนต่างชาติไล่ทุบราคา “ภูเก็ต-สมุย”

วิกฤต ! โรงแรม-ที่พัก 3,700 แห่งในพื้นที่ 20 จังหวัดเข้าคิวปิดกิจการ ศูนย์วิจัยกสิกรฯเผยยอดหนี้คงค้างธุรกิจโรงแรมสูงกว่า 4.19 แสนล้านบาท ขณะที่ตลาดโรงแรม-ที่พักเมืองไทย “โอเวอร์ซัพพลาย” ตั้งแต่ก่อนโควิด ด้วยจำนวน 1.12 ล้านห้อง โรงแรม “ภูเก็ต-สมุย-พัทยา” โคม่าหลังโควิด-19 ระลอกใหม่ทุบซ้ำ แห่ขายยกโครงการ ทุนไทย-ต่างชาติสบช่องกดราคาซื้อต่ำกว่า 50% ชี้หลายรายแจ็กพอตแบงก์เจ้าหนี้ขีดเส้นตาย อสังหาฯอ่วมไม่น้อยหน้าบ้าน-คอนโดฯ ภูเก็ตราคาตกวูบในรอบ 20 ปี

รร. 3,700 แห่งต่อคิวปิดกิจการ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยถึงผลวิจัยธุรกิจโรงแรมและที่พัก ปี 2564 ยังไม่พ้นวิกฤตจากผลกระทบของสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่สามารถกลับเข้ามาได้ โดยคาดว่าโรงแรมและที่พักจดทะเบียนในพื้นที่ 20 จังหวัด (พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติสูง) มีความเสี่ยงต้องปิดกิจการถึง 20% หรือประมาณ 3,700 แห่ง จากทั้งหมด 1.84 หมื่นแห่ง และมีแนวโน้มจำนวนมากขึ้น หากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ไม่สามารถควบคุมได้ในไตรมาส 1/2564 ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ภูเก็ต กรุงเทพฯ พัทยา และกระบี่ เป็นต้น

สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด จะเป็นกลุ่มโรงแรมราคาประหยัด และโรงแรมขนาดกลาง ที่มีกำไรขั้นต้นต่ำและเน้นรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นกรุ๊ปทัวร์ สำหรับกลุ่มโรงแรมระดับบน แม้จะได้เปรียบทางการตลาดและมีความสามารถบริหารต้นทุนได้ดีกว่า แต่ด้วยมูลหนี้ที่สูง ขณะที่รายได้ยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากข้อจำกัดที่ยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรมที่เพิ่งเปิดใหม่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จะได้รับผลกระทบสูงจากปัญหาสภาพคล่อง

ทั้งนี้ กลุ่มโรงแรมและที่พักใน 20 จังหวัดที่มีการพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติสูง อาทิ ภูเก็ต พังงา ยะลา สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย) ชลบุรี กระบี่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น โดยมีการจดทะเบียนทั้งสิ้น 1.84 หมื่นแห่ง คิดเป็น 60% ของจำนวนโรงแรมทั้งประเทศ และมีห้องพักจำนวน 8.3 แสนห้อง คิดเป็น 72.4% ของห้องพักทั้งประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีโรงแรมกัดฟันเปิดให้บริการประมาณ 50-55%

โอเวอร์ซัพพลายก่อนโควิด

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า จากข้อมูลธุรกิจโรงแรมและที่พักของประเทศไทยก่อนการระบาดของโควิดอยู่ในภาวะ “โอเวอร์ซัพพลาย” อยู่แล้ว โดยโรงแรมและที่พักจดทะเบียนทั่วประเทศมีจำนวน 3.04 หมื่นแห่ง จำนวนห้องพัก 1.12 ล้านห้อง โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มโรงแรมราคาประหยัดและโรงแรมขนาดกลาง ราคาเฉลี่ยประมาณ 1,720 บาท ทั้งนี้ พบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ค่าเฉลี่ยอัตราการเข้าพักทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 69% ซึ่งสะท้อนว่าในภาวะปกติธุรกิจโรงแรมและที่พักในประเทศไทยก็เผชิญกับภาวะอุปทานล้นตลาดอยู่แล้ว

สำหรับ 5 จังหวัดที่มีซัพพลายห้องพักสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ 290,000 ห้อง, ภูเก็ต 120,000 ห้อง, ชลบุรี 98,500 ห้อง และเชียงใหม่ 54,610 ห้อง

ขณะที่สินเชื่อคงค้างของผู้ประกอบการโรงแรมและที่พักทั่วประเทศ ณ สิ้นไตรมาส 3/2563 มูลค่า 4.19 แสนล้านบาท จากจำนวนลูกค้าทั้งสิ้น 16,117 บัญชี

โอกาสที่จะอยู่รอด

รายงานของศูนย์วิจัยระบุว่า แนวโน้มการท่องเที่ยวปี 2564 ยังมีความเสี่ยงสูงจากสถานการณ์โควิดที่ยังรุนแรงในหลายประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันอัตราการเข้าพักของโรงแรมที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 35-40% ในกรณีที่สามารถควบคุมการระบาดระลอกใหม่ได้ภายในไตรมาส 1/2564

พร้อมประเมินว่า กลุ่มโรงแรมที่จะอยู่รอดต้องมีฐานตลาดเป็นนักท่องเที่ยวไทย อย่างกลุ่มบูติคโฮเทล กลุ่มที่พักขนาดเล็กที่มีแคแร็กเตอร์ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์นักท่องเที่ยวไทย เป็นกลุ่มที่มีความยืดหยุ่นในการสร้างรายได้จากช่องทางอื่น ๆ เช่น ภัตตาคาร ร้านอาหาร การจัดกิจกรรมประชุม/สัมมนา รวมทั้งต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการราคาและอัตราค่าห้องอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถสร้างจุดคุ้มทุนได้จากอัตราเข้าพักเฉลี่ย 35-40%

ทุนไทย-ต่างชาติกดราคาซื้อ

ด้านนายณัฐวุฒิ นำมณีวงศ์ ประธานบริหาร บริษัท เนวิเกเตอร์ไทย จ.ภูเก็ต เจ้าของเพจ Phuket Real Estate Agents บริษัทที่ปรึกษา และตัวแทนรับฝากขาย-เช่าอสังหาริมทรัพย์ในภูเก็ต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ และโรงแรมในภูเก็ต ซึ่งได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจ และโควิด-19 กำลังเดือดร้อนอย่างหนัก หลายรายปัญหาเข้าขั้นวิกฤต โดยเฉพาะหลังการระบาดระลอกใหม่ เพราะแทบไม่มีคนไทยเดินทางไปท่องเที่ยวภูเก็ต

ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินส่วนใหญ่จะขึ้นแบล็กลิสต์ เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อเป็นพิเศษกับคนภูเก็ต ทั้งผู้ประกอบการ ผู้บริโภคที่ต้องการซื้อบ้าน คอนโดฯ เห็นได้จากการยื่นขอสินเชื่อถูกปฏิเสธ (reject rate) เกือบทั้งหมด ทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมในภูเก็ตโดยเฉพาะรายกลางและเล็กเกือบ 90% พากันบอกขายกิจการ เช่นเดียวกับโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่เจ้าของต้องการขายยกโครงการ โดยยอมลดราคาลง 30-40% แต่ส่วนใหญ่ยังขายไม่ได้ เนื่องจากทั้งทุนไทย และทุนต่างชาติกดราคาซื้อต่ำกว่า 50% ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าที่เป็นหนี้สถาบันการเงิน จึงตกลงกันไม่ได้ คาดว่าช่วงไตรมาส 2 ปีนี้จะเห็นดีลการซื้อขายชัดเจนขึ้น

“ทุนต่างชาติที่เข้ามาดูลู่ทางลงทุนมาจากทั่วโลก เช่น จีน, รัสเซีย, ฮ่องกง, ไต้หวัน, สิงคโปร์, สแกนดิเนเวียน ฯลฯ แต่ละรายจะเข้ามาขอข้อมูล เช็กราคา ไม่ว่าจะเป็นบ้านจัดสรร คอนโดฯ โรงแรม”

แบงก์เจ้าหนี้ขีดเส้นตาย

ขณะที่ผู้ประกอบการที่มีปัญหายังลังเล เพราะไม่รู้สถานการณ์จะดีขึ้นหรือไม่ ถ้าวัคซีนโควิดยังไม่ถึงขั้นใช้ได้ปลอดภัยทั้งหมด ภาคท่องเที่ยว อสังหาฯในภูเก็ตคงฟื้นยาก แม้มองว่าหลังโควิดผ่านไป ภูเก็ตมีโอกาสจะฟื้นกลับมาเติบโต แต่กว่าจะถึงวันนั้นไม่รู้จะตายหรือรอด แม้บางรายที่พอมีสายป่านประคองตัวได้ถึงปี 2565 แต่เมื่อไม่มีความชัดเจนก็อาจต้องตัดใจขาย อย่างไรก็ตาม โรงแรมบางแห่งถูกแบงก์เจ้าหนี้ขีดเส้นตายภายในอีกไม่กี่เดือน ถ้าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น คงต้องยอมขายราคาถูก ๆ ก่อนจะถูกแบงก์เจ้าหนี้ยึด น่าเห็นใจเจ้าของโรงแรม เพราะแม้แต่ระดับ 5 ดาวหลายแห่ง ถ้าไม่ใช่เชนใหญ่ระดับโลก็เจ็บหนัก ไม่ต่างจากโรงแรมระดับ 4 ดาว 3 ดาว เพราะมีค่าใช้จ่าย

บ้าน-คอนโดฯราคาลงรอบ 20 ปี

นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ในส่วนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในภูเก็ต ทั้งบ้าน คอนโดฯก็อยู่แบบหืดขึ้นคอ ก่อนเกิดโควิดบ้าน คอนโดฯในภูเก็ตราคาสูงมาก แต่ตอนนี้ราคาลดลงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบ 20 ปี แข่งกันลดราคาต่ำลงเป็นพิเศษ อย่างบ้านเดี่ยวใหม่ พื้นที่ 40 ตร.ว. ปกติ 6 ล้านบาทขึ้นไป แต่วันนี้ซื้อได้ 3.7-3.8 ล้านบาท หรือลดลง 30-40% ขณะที่คอนโดฯก็มีคนประกาศขายต่ำกว่าราคาที่ซื้อมา เช่น คอนโดฯช่วง presale ยูนิตละ 3 ล้านบาท แต่ตอนนี้บอกขาย 2.5 ล้านบาท ด้านผู้ประกอบการก็ยอมขายราคาต้นทุน เพื่อเอาทุนคืนมาก่อน แต่ยังหาคนซื้อยาก เนื่องจากธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อ ในภูเก็ตถ้าใครทำเกี่ยวกับธุรกิจท่องเที่ยวไม่สามารถกู้ซื้ออสังหาฯได้

“รูปธรรมที่ชัดเจนเห็นได้จากเพจขายอสังหาฯ Phuket Real Estate Agents ช่วงปี 2563 ที่มียอดฝากขายเพิ่ม 100% ถึงวันนี้มากกว่าเดิม 2 เท่า แต่ขายออกยากเพราะสถาบันการเงินคุมเข้มการปล่อยกู้ คนทำงานในธุรกิจท่องเที่ยว อสังหาฯในภูเก็ต จะถูกขึ้นแบล็กลิสต์กู้เงินไม่ได้ กลายเป็นถูกฟรีซไปเลย สำหรับคนที่ฝากขายมีทั้งคนภูเก็ต กับคนจากจังหวัดอื่นที่มาทำงานในภูเก็ต อีกส่วนหนึ่งเป็นทุนกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ชลบุรี เข้ามาลงทุน แต่ขายออกได้น้อยไม่เกิน 10% ของที่ฝากขาย”

โรงแรมป่าตองขายทิ้งยกหาด

ด้านแหล่งข่าวจากผู้ประกอบการโรงแรมบริเวณหาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ในป่าตองมีโรงแรมกว่า 1,000 แห่ง ห้องพักรวมว่า 40,000 ห้อง ทุกโรงแรมอยากบอกขายเพราะแทบไม่มีนักท่องเที่ยว และอนาคตยังมืดมน ยิ่งการระบาดระลอกใหม่ จังหวัดมีมาตรการต้องกักตัว 14 วัน ทำให้นักท่องเที่ยวคนไทยก็ไม่เดินทางไปภูเก็ต ขนาดห้างเซ็นทรัล ป่าตอง ยังต้องปิดบริการ แต่การบอกขายที่ผ่านมายังไม่มีรายใดตกลงราคากันได้ เพราะทุนใหญ่กดราคาซื้อต่ำมาก เช่น โรงแรมบอกขาย 400 ล้านบาท กดราคาเหลือ 200 ล้านบาท

“ตอนนี้ลำบากกันมาก โรงแรม 5 ดาว ค่าห้องพักต่อคืนหลายพันบาท ลดลงเหลือไม่ถึง 1,000 บาท ทำให้โรงแรมระดับ 4 ดาว 3 ดาว ตกอยู่ในสถานะลำบาก ตัดราคาแข่งขันกันสูงมาก เปิดบริการก็ไม่ได้กำไร แต่การปิดระบบไฟฟ้าทั้งหมดไม่ได้ เพราะค่าใช้จ่ายสูงในการเดินเครื่องใหม่ ทำให้ต้องกัดฟันเปิดต่อ ที่ผ่านมาภูเก็ตทำรายได้กว่า 4 แสนล้านบาทต่อปี เสียภาษีให้รัฐจำนวนมาก จึงอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือก่อนกิจการตกไปอยู่ในมือต่างชาติทั้งหมด”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจการประกาศขายโรงแรมตามเว็บไซต์ต่าง ๆ เช่น DotProperty.co.th, ddproperty.co.th พบว่า ช่วงตั้งแต่ต้นเดือน ธ.ค. 63-ม.ค. 64 มีการประกาศขายโรงแรม รีสอร์ต เกสต์เฮาส์ และวิลล่า ในภูเก็ตจำนวนมาก และหลายระดับราคา อาทิ พบการประกาศขายโครงการราคา 50-100 ล้านบาท 17 แห่ง, ระดับราคา 100-500 ล้านบาท 20 แห่ง, ราคา 500-2,000 ล้านบาท 2 แห่ง และ 2,000 ล้านบาทขึ้นไป 4 แห่ง โดยเฉพาะบริเวณหาดป่าตอง อำเภอกะทู้ ประกาศขาย 32 แห่ง ราคาตั้งแต่ 50 ล้านบาท จนถึงกว่า 2,000 ล้านบาทขึ้นไป

ยกตัวอย่างโรงแรม 4 ดาว 5 ดาว บริเวณหาดป่าตองที่บอกขาย เช่น บีเลย์ ป่าตอง บีช รีสอร์ต เนื้อที่ 5-3-41 ไร่ ราคาขาย 2,000 ล้านบาท, ซี ซัน แซนด์ รีสอร์ต แอนด์ สปา เนื้อที่ 13 ไร่ ราคาขาย 2,000 ล้านบาท, โรงแรมป่าตอง เบย์ เรซิเดนส์ เนื้อที่ 9 ไร่ ราคาขาย 1,200 ล้านบาท และเดอะแลนเทิร์น รีสอร์ต ป่าตอง เนื้อที่ 1-2-0 ไร่ ราคาขาย 1,000 ล้านบาท เป็นต้น

600 รร.สมุยขายยกเกาะ

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการโรงแรมบนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ขณะนี้โรงแรมบนเกาะสมุยทั้งหมด 660 แห่ง ห้องพักรวม 33,000 ห้อง มีใบอนุญาตถูกต้อง 480 แห่ง มีการบอกขายกิจการจำนวนมากเช่นกัน และพร้อมขายหากได้ราคาที่เหมาะสม ทั้งโรงแรมระดับ 5 ดาว 4 ดาว 3 ดาวลงมา เนื่องจากโรงแรมส่วนใหญ่รับลูกค้าต่างชาติ 90% เพราะเมื่อโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ แม้แต่ลูกค้าคนไทยยังน้อยมาก ที่ผ่านมามีกองทุนของนายทุนคนไทย และทุนจีนที่มีฐานการลงทุนอยู่ในไทยเข้าไปเจรจาต่อรองราคา แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะกดราคาซื้อต่ำถึง 50% ขณะที่ราคาที่เจ้าของเสนอขายลดลงจากราคาตลาด 70%

สำหรับโรงแรมที่บอกขายในหมู่นักลงทุน ระดับ 4 ดาว 5 ดาว เช่น โรงแรมคอนราด เกาะสมุย เนื้อที่ 89 ไร่ บอกขาย 1,157 ล้านบาท, โรงแรมบุณฑรีก์ สปา รีสอร์ท แอนด์ วิลลา สมุย เนื้อที่ 23 ไร่ ราคาขาย 1,000 ล้านบาท, โรงแรมโนรา บุรี รีสอร์ท แอนด์ สปา 1,000 ล้านบาท, โรงแรมดีวา บีช รีสอร์ต สมุย เนื้อที่ 6-2-80.1 ไร่ ขาย 650 ล้านบาท โรงแรมใบหยก ซีโคสต์ สมุย เนื้อที่ 10-2-83 ไร่ ราคาขาย 350 ล้านบาท

พัทยาอ่วมไร้นักท่องเที่ยว

สำหรับในเมืองพัทยา นายธเนศ ศุภรสหัสรังสี รักษาการประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวชลบุรี กล่าวว่า ขณะนี้ จ.ชลบุรีมีคำสั่งปิดสถานประกอบการโรงแรมตามกฎหมาย และปิดสถานที่ท่องเที่ยวชั่วคราวตั้งแต่ 28 ม.ค. 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ตามที่ 8 องค์กรผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม และการท่องเที่ยวเรียกร้องให้มีมาตรการช่วยดูแลพนักงาน ลูกจ้าง ซึ่งช่วยได้ระดับหนึ่ง เพราะโรงแรมและสถานที่ท่องเที่ยวในพัทยาส่วนใหญ่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนคนไทยมาท่องเที่ยวเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ แม้เปิดดำเนินการก็มีรายได้ไม่เพียงพอ สำหรับโรงแรมที่บอกขายกิจการส่วนใหญ่เป็นโรงแรมที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น จีน และรัสเซีย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในพัทยามีโรงแรมบอกขายในหมู่นักลงทุน เช่น โรงแรมโนโวเทล พัทยา โมดัส บีชฟรอนต์ รีสอร์ท ซอยนาเกลือ 12 เนื้อที่ 5-2-8 ไร่ ราคาขาย 1,800 ล้านบาท, การ์เด้น คลิฟ รีสอร์ท แอนด์ สปา ซอยนาเกลือ 16 พัทยาเหนือ เนื้อที่ 11-1-57 ไร่ 1,600 ล้านบาท ซิลเวอร์ แซนด์ วิลล่า พัทยา ถนนหาดจอมเทียน เนื้อที่ 10-1-66.8 ไร่ ขาย 890 ล้านบาท และเซนทารา แกรนด์ พระตำหนัก พัทยา ถนนพระตำหนัก เนื้อที่ 2 ไร่ ราคาขาย 850 ล้านบาท เป็นต้น

อ่านข่าวต้นฉบับ: โรงแรม 3.7 พันแห่ง ปิดตาย ทุนต่างชาติไล่ทุบราคา “ภูเก็ต-สมุย”

Credit ข่าวและภาพจาก ฟีดข่าวประชาชาติ : https://www.prachachat.net

Recommend more :

โควิด ทุบเที่ยวบินเหลือวันละ 20 เที่ยว กพท. ขอสายการบินขายตั๋วไม่เกิน 70%
Airbnb ชี้เทรนด์คนไทย พร้อมใช้จ่าย-ท่องเที่ยว
ขายต่อ! “บินไทย” โละสินค้ามือ 1 “ไม้จิ้มฟัน ยันเรือบิน” วันเดียวหมด
ลุ้น “วัคซีน” ปลุกท่องเที่ยว ขอ 5 ล้านโดสฉีด 5 จังหวัด
ผู้บริหาร “นกแอร์” ทยอยลาออก เปิดทางฟื้นฟูกิจการ
เปิดวิชั่น 3 บิ๊กท่องเที่ยว แคนดิเดต ประธาน สทท. คนใหม่
ช็อก! โควิดระลอกใหม่ ‘ดับฝัน’ คนท่องเที่ยว
สัญญาณ Work From Home ! ททท. ให้พนักงานทำงานที่บ้าน 4-17 ม.ค. 64
เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 รอเปิดวิธีใช้สิทธิ์จากกรุงไทย-มหาดไทย
‘อุดรธานี’ ปรับโมเดล ดูดนักท่องเที่ยว ‘จีน-เวียดนาม’
“เราเที่ยวด้วยกัน” กระตุ้นคนไทยตัดสินใจเที่ยว 74.15%
“มาคาเลียส” รับมือโควิด ยืดอายุโวเชอร์ใช้ยันสิ้นปี

Leave a Reply