แม้ว่าทั่วโลกจะมีข่าวดีเรื่องการเริ่มทยอยฉัดวัคซีนป้องก
อ่านข่าวต้นฉบับ: ชงสารพัดมาตรการ วัดใจรัฐบาลอุ้ม…ธุรกิจท่องเที่ยว ?

แม้ว่าทั่วโลกจะมีข่าวดีเรื่องการเริ่มทยอยฉัดวัคซีนป้องกันโควิด-19 กันแล้วในกว่า 30 ประเทศ และมีแนวโน้มว่าจะกระจายการฉีดได้ครอบคลุมประชากรโลกอย่างรวดเร็ว แต่การแพร่ระบาดของโควิดระลอก 2 ในทั่วโลกก็ยังมีปริมาณสูงขึ้นเรื่อย ๆ แถมยังมีการกลายพันธุ์ของโรคและทำให้ติดต่อได้ง่ายขึ้น

บวกกับการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ในประเทศไทยที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 กระทั่งขณะนี้ก็ยังคงคาดการณ์ไม่ได้ว่าต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย และบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวจะกลับมาดีขึ้นได้เมื่อไหร่

นั่นหมายความว่าภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยเผชิญกับภาวะ “วิกฤต” มาแล้ว 1 ปีเต็ม ๆ หลายธุรกิจไม่มีรายได้ และหลายธุรกิจที่มีรายได้บ้างแต่ไม่เพียงพอกับการจ้างงาน ส่งผลให้ในปี 2563 ที่ผ่านมา แรงงานในภาคธุรกิจท่องเที่ยวตกงานถึงราว 1 ล้านคน

แรงงานจ่อตกงานพุ่ง 2 ล้านคน

“ชำนาญ ศรีสวัสดิ์” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้แรงงานในภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่มีจำนวนกว่า 4 ล้านคนได้รับผลกระทบ ทั้งถูกพักงานชั่วคราวและถูกลดเงินเดือน โดยคาดการณ์ว่าหลังการแพร่ระบาดระลอกใหม่ (ไตรมาส 1/2564) นี้ จะทำให้แรงงานในภาคธุรกิจท่องเที่ยวตกงานราว 1.5-2 ล้านคน

แนวโน้มการท่องเที่ยวไตรมาส1

“จากข้อมูลการสำรวจของ สทท. พบว่า แรงงานในภาคธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ไตรมาส 2/2563 ซึ่งเป็นช่วงการล็อกดาวน์ธุรกิจยาว 3 เดือน โดยไตรมาส 2/2563 มีแรงงานท่องเที่ยวตกงาน 2.6 ล้านคน และเริ่มคลี่คลายขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ที่ธุรกิจเริ่มกลับมาเปิดให้บริการบ้าง ทำให้ตัวเลขการตกงานในไตรมาส 3 ลดเหลือประมาณ 5.37 แสนคน แต่พอโควิดระลอกใหม่มาทำให้ไตรมาส 4 มีแรงงานตกงานเพิ่มเป็น 1.04 ล้านคน และคาดว่าแนวโน้มแรงงานท่องเที่ยวจะตกงานเพิ่มอีกในช่วงไตรมาส 1/2564 นี้”

ขณะที่ “มาริสา สุโกศล หนุนภักดี” รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และนายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) ให้ข้อมูลเสริมว่า ที่ผ่านมาหลายฝ่ายคาดการณ์กันว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาอีกครั้งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะชัดเจนมากว่าภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยตกอยู่ในภาวะปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 2 ปีเต็ม ๆ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่หนักและสาหัสมากสำหรับคนทำธุรกิจท่องเที่ยว

โดยปัจจุบันพบว่าในพื้นที่ 7 จังหวัดหลักที่พึ่งพารายได้จากภาคการท่องเที่ยว อาทิ ภูเก็ต, กระบี่, ชลบุรี, หัวหิน, เชียงใหม่ ฯลฯ ธุรกิจท่องเที่ยวยังคงปิดกิจการชั่วคราวกันอยู่ถึงราว 80% แรงงานส่วนใหญ่ตกงานเพราะธุรกิจไม่มีรายได้ จึงไม่สามารถรักษาการจ้างงานไว้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เจ็บปวดที่สุดสำหรับเจ้าของกิจการ

ชงสารพัด “มาตรการ” อุ้ม

“มาริสา” ให้ข้อมูลอีกว่า สถานการณ์ของผู้ประกอบการวันนี้คือส่วนใหญ่ยังเปิดกิจการ แต่ไม่มีรายได้ และต้องแบกรับภาระเรื่องการจ้างงานไว้จึงได้นำเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนใน 4 มาตรการหลัก ประกอบด้วย

1.โครงการ co-payment ให้รัฐสนับสนุนค่าจ้างแรงงาน 50% เป็นระยะเวลา 1 ปี (ใช้ฐานเงินเดือน 15,000 บาท)

2.สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ในอัตราดอกเบี้ย 2%

3.พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย ระยะเวลา 2 ปี

และ 4.ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ 15% เป็นเวลา 6 เดือน

มาตรการเร่งด่วนคือ co-payment เนื่องจาก “คน” คือหัวใจหลักของธุรกิจท่องเที่ยว โดยขณะนี้ สทท.ได้ประเมินไว้ว่าจำนวนแรงงานที่ต้องการมาตรการนี้มีประมาณ 8 แสนคน โดยเป็นแรงงานในภาคธุรกิจโรงแรมราว 4 แสนคน

ในประเด็นนี้ “ชำนาญ” บอกว่า นอกจากรัฐต้องอุดหนุนงบประมาณเพื่อให้คนออกเดินทางท่องเที่ยวแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยยังคงมีลมหายใจต่อได้คือการช่วยสนับสนุนต้นทุนการจ้างแรงงาน หรือ co-pay เนื่องจากต้นทุนค่าแรงงานถือเป็นต้นทุนสำคัญของภาคธุรกิจท่องเที่ยว

นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการจัดตั้งธนาคารแรงงานภาคท่องเที่ยว หรือ Tourism Labor Bank สำหรับเป็นศูนย์รวมรองรับกลุ่มแรงงานที่ถูกเลิกจ้างหรือว่างงานให้สมัครเข้ามาอยู่ธนาคารแรงงานเพื่อหาโอกาสในการทำงาน ขณะที่ผู้ประกอบการหรือหน่วยงานอื่น ๆ ก็สามารถเข้ามาเลือกจ้างผู้ที่มีทักษะตรงตามความต้องการไปทำงานได้

รวมถึงเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อเข้ามาช่วยพยุงผู้ประกอบการ เช่นเดียวกับการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านในอดีต

“ไทยเที่ยวไทย” ทางรอดเดียว

ด้าน “สุทธิพงศ์ เผื่อนพิภพ” รองประธาน สทท. และนายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) กล่าวว่า สถานการณ์ในวันนี้ตลาดภายในประเทศคือน้ำหล่อเลี้ยงเดียวของภาคธุรกิจท่องเที่ยวไทย เนื่องจากตลาดอินบาวนด์และเอาต์บาวนด์ยังคงเป็นศูนย์ และแนวโน้มก็ยังคงเป็นศูนย์ต่ออีกนาน โดยที่ผ่านมาทางสมาคม TTAA ได้หันมาขับเคลื่อนตลาดในประเทศตั้งแต่ปลายปี 2563 ที่ผ่านมา และยังคงดำเนินการต่อเนื่องในปีนี้ในนามของ สทท.ด้วย

โดยแนวทางการขับเคลื่อนคือ นำเสนอโครงการขอใช้งบประมาณที่เหลือจากโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” กว่า 1 หมื่นล้านบาทมาขับเคลื่อน ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมหารือหาแนวทางร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนมาก อาทิ ททท., กรมการท่องเที่ยว, ทีเส็บ, อพท., สภาอุตสาหกรรมฯ, หอการค้าฯ เป็นต้น

ทั้งนี้ เชื่อว่าบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยจะกลับมาอีกครั้งในเดือนเมษายนนี้ ดังนั้น ระหว่างนี้ สทท.ได้เร่งทำงานอย่างเต็มที่พร้อมผลักดันโครงการต่าง ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ สานต่อโครงการ “ทัวร์คนโสด” ที่ต้องหยุดไปเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิดรอบใหม่

นอกจากนี้ยังมีมาตรการขับเคลื่อน “เที่ยวไทยช่วยไทย” ภายใต้โครงการต่าง ๆ ประกอบด้วย โครงการเราเที่ยวด้วยกันทุกสินค้าท่องเที่ยว ในระบบ co-pay, ส่งเสริมหน่วยงานราชการท้องถิ่น สถานศึกษา ออกเดินทางท่องเที่ยว ประชุม สัมมนา, ส่งเสริมภาคเอกชนท่องเที่ยวภายในประเทศ, ส่งเสริมนักท่องเที่ยวพรีเมี่ยมเชิงสร้างสรรค์ และเพิ่มความร่วมมือกับภาครัฐ เร่งขับเคลื่อนท่องเที่ยวภายใประเทศ

มั่นใจ (ยัง) มีทางออก

ประธาน สทท.ยอมรับว่าที่ผ่านมา ภาคธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมากที่สุด แต่ผู้ประกอบการทั้งหมดยังคงสู้ เพราะรัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศมาขับเคลื่อน อาทิ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน, โครงการกำลังใจ (พา อสม.เที่ยวฟรี) ฯลฯ ทำให้ผู้ประกอบการเชื่อว่ายังพอมี “ความหวัง” เหลืออยู่บ้าง

อย่างไรก็ตาม สำหรับ สทท.เองเชื่อว่า วิกฤตครั้งนี้ยังมี “ทางรอด” เช่นเดียวกับทุก ๆ วิกฤตที่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวผ่านมาในอดีต หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ แต่ก็ยอมรับว่าคงมีธุรกิจบางส่วนที่ต้องล้มหายตายจากไปเช่นกัน

โดยขณะนี้ทาง สทท.ได้นำเสนอมาตรการต่าง ๆ ต่อหน่วยงานรัฐเพื่อให้ช่วยสนับสนุนและส่งเสริมภาคธุรกิจท่องเที่ยวให้สามารถประคองตัวและเดินหน้าต่อไปได้หลาย ๆ ประเด็น รวมถึงโครงการที่จะออกมากระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศจำนวนมาก

พร้อมบอกด้วยว่า ด้วยสถานการณ์วันนี้ความหวังเดียวของภาคธุรกิจท่องเที่ยวคือ “รัฐบาล” กล่าวคือ ธุรกิจมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้รัฐบาลอุดหนุนงบประมาณ (subsidize) เพื่อให้ช่วยกันกระตุ้นให้คนไทยออกเดินทางท่องเที่ยว และทำให้ผู้ประกอบการทุกซัพพลายเชนได้รับประโยชน์เท่า ๆ กัน หรือเรียกว่า “เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข” และช่วยให้ทุกเซ็กเตอร์มีกำลังใจที่จะกลับมาเปิดธุรกิจ

“ถ้าในช่วงไตรมาส 1-2 นี้ รัฐอนุมัติให้ใช้งบประมาณที่เหลือจากโครงการเราเที่ยวด้วยกันกว่า 1 หมื่นล้านบาทออกมาใช้ และสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐออกมาใช้งบประมาณสำหรับการเดินทางท่องเที่ยว หรือจัดประชุม สัมมนา ในช่วงไตรมาส 3-4 ภายใต้แคมเปญเที่ยวช่วยชาติ เชื่อว่าทุกเซ็กเตอร์ที่เป็นซัพพลายเชนของภาคธุรกิจท่องเที่ยวรอดได้แน่นอน”

โดยย้ำว่า แนวทางการดำเนินงานโครงการทั้งหมดดังกล่าวนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากภาครัฐ เพราะเป็น “ทางรอด” เดียวของภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยในห้วงเวลานี้

อ่านข่าวต้นฉบับ: ชงสารพัดมาตรการ วัดใจรัฐบาลอุ้ม…ธุรกิจท่องเที่ยว ?

Credit ข่าวและภาพจาก ฟีดข่าวประชาชาติ : https://www.prachachat.net

Recommend more :

ระทึก ! โหวตแผนฟื้นฟูการบินไทย เจ้าหนี้-คลัง เกี่ยงใส่เงินเพิ่ม
คิง เพาเวอร์ ลุยขายสินค้าทั้ง Duty Free และ Non Duty Free 
ต่างประเทศเปิดรับนักท่องเที่ยว TTAA ชี้ยังไม่ถึงเวลา “ไทยเที่ยวนอก”
ท่องเที่ยวโค้งท้ายสะดุด “โควิดสมุทรสาคร” ทุบมู้ดในประเทศ
ชงครม. เลื่อนวันเข้าพัก “เราเที่ยวด้วยกัน” ยืดเวลาถึง 31 ต.ค.64
หลบโควิด! คนจองสิทธิ์ “เราเที่ยวด้วยกัน” เลื่อนวันเข้าพักได้ 6 เดือน -1 ปี
โรงแรมหรู เปิดพื้นที่ริมสระให้ “แกลมปิ้ง” นอนนับดาวใจกลางเมือง
จ่อปลดล็อก “เราเที่ยวด้วยกัน” แจกตั๋วเครื่องบินลด 40% ไม่ต้องสำรองจ่าย ไม่ต้องจองโรงแรม
‘เราเที่ยวด้วยกัน’ ไม่ขยับ ! งบเหลือหมื่น ล.-งัดเที่ยวผ่านทัวร์แก้เกม
ครม. ไฟเขียว 46.48 ล้านบาท “บินไทย” จัดเที่ยวบินขนส่งผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์
เตรียมลงทะเบียน “เราเที่ยวด้วยกัน” 1 ล้านสิทธิ์ เป็นของขวัญปีใหม่
ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศ คลังขยายเวลา ลดภาษีน้ำมันเครื่องบิน

Leave a Reply