ยังคงต้องอยู่ในภาวะวิกฤตกันต่อไปอีกไม่ต่ำกว่า 6 เดือนแน
อ่านข่าวต้นฉบับ: “โรงแรม” ดิ้นปรับตัว วิกฤตยาว ! หันปล่อยเช่ารายเดือน

ยังคงต้องอยู่ในภาวะวิกฤตกันต่อไปอีกไม่ต่ำกว่า 6 เดือนแน่นอนสำหรับภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมของไทย

โดยก่อนหน้านี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คาดการณ์ว่าในปี 2564 นี้ ธุรกิจท่องเที่ยวไทยจะยังไม่ฟื้นตัว และธุรกิจโรงแรม ที่พัก ก็ยังคงไม่พ้นวิกฤต พร้อมมองว่าจะมีซัพพลายราว 20% ของโรงแรมที่พักในพื้นที่ 20 จังหวัดที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติมีความเสี่ยงที่จะปิดตัว

และอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% หากไม่สามารถควบคุมโควิดระลอกใหม่ได้ภายในไตรมาส 1 นี้ โดยมองว่ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นกลุ่มบัดเจตโฮเทล และมิดสเกล ที่รับนักท่องเที่ยวกลุ่มกรุ๊ปทัวร์และแบ็กแพ็ก

“วิกฤต” ทั่วประเทศ

“ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้ข้อมูลว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมา ธุรกิจโรงแรมทั่วประเทศของไทยนับว่าอยู่ในภาวะปริ่มน้ำหรือแค่พ้นปากเหวเท่านั้น โดยพบว่าอัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 29.62% สูงกว่าภาวะวิกฤต (อัตราต่ำสุดที่ธุรกิจอยู่ได้) ที่อยู่ในระดับ 27.87% เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ทั้งนี้ หากมอนิเตอร์รายภูมิภาคจะพบว่า พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักและมีอัตราการเข้าพักต่ำกว่าภาวะวิกฤตอย่างชัดเจนคือ กรุงเทพฯ ซึ่งมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยแค่ 27.28% ขณะที่ภาวะวิกฤตอยู่ที่ 34.48% และภาคใต้ที่มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 21.43% ขณะที่ภาวะวิกฤตอยู่ที่ 28.23%

ขณะที่ภาคกลางและภาคตะวันออกนั้นถือว่าธุรกิจอยู่ในภาวะปริ่มน้ำ ส่วนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยสูงกว่าภาวะวิกฤต หรือไม่กระทบมากนัก เนื่องจากฐานลูกค้าส่วนใหญ่เป็นตลาดภายในประเทศเป็นหลัก (ดูตารางประกอบ)

สงครามราคา (ยัง) ท่วมตลาด

แหล่งข่าวในธุรกิจโรงแรมรายหนึ่งกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นับตั้งแต่คลายล็อกโควิดรอบแรก (กรกฎาคม 2563) โรงแรมในกลุ่ม 5-6 ดาวหันมาปรับลดราคาขายห้องพักลงอย่างหนักต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ทั้งรูปแบบการเข้าร่วมกับโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” และสำหรับผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ

ขณะที่โรงแรมขนาด 3-4 ดาวนั้นนอกจากจะได้รับผลกระทบจากโควิดแล้วยังได้รับผลกระทบจากการถล่มสงครามราคาของโรงแรมหรูอีกทางหนึ่งด้วย ทำให้ยังมีโรงแรมอีกจำนวนมากที่ยังไม่พร้อมที่จะกลับมาเปิดให้บริการ

ล่าสุดนี้ “เซ็นทรัลเวิลด์” ได้ร่วมกับโรงแรมหรูระดับ 5 ดาวทั่วประเทศ จำนวน 20 แห่ง จัดงาน world Of Workation รวมดีล และแพ็กเกจที่พักสุดคุ้ม ลดสูงสุด 80% ณ ลานกิจกรรมชั้น 1 โซน Atrium ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ตั้งแต่วันนี้-14 กุมภาพันธ์นี้

โดยมีเป้าหมายการเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทยให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง รับกระแส Staycation และ Workcation ในราคาที่ไม่เคยมีที่ไหนมาก่อน อาทิ โรงแรม Centara Grand at CentralWorld มอบแพ็กเกจห้องพักซูพีเรียร์ พร้อมอาหารเช้าสำหรับ 2 ท่าน ในราคาเพียง 1,999 บาท พร้อมรับเครดิตคืนสำหรับใช้จ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่มในโรงแรมมูลค่า 1,400 บาทต่อคืน (100 ท่านแรกเท่านั้น), Park Hyatt Bangkok เริ่มต้นแพ็กเกจ พร้อมอาหารเช้า และบุฟเฟต์ ดินเนอร์ ในราคา 4,237 บาท (เมื่อใช้สิทธิเราเที่ยวด้วยกัน)

The Okura Prestige Bangkok เริ่มต้นห้อง Premium Club ในราคา 5,000 บาท (จากราคาปกติ 13,536 บาท), The St. Regis Bangkok Hotel เริ่มต้นห้อง Deluxe Room ราคา 6,500 บาทสุทธิ พร้อมอาหารกลางวันและดินเนอร์, Grand Hyatt Erawan ราคาห้องพักเริ่มต้นเพียง 2,021 บาท พิเศษคืนที่ 2 ลด 50%, Dusit Suits Hotel ราคาห้องพักเริ่มต้น 2,400 บาท พร้อมเครดิตเงินสดคืน 1,000 บาท ฯลฯ

ซัพพลายใหม่ยังเพิ่มต่อเนื่อง

ขณะที่ “ภัทรชัย ทวีวงศ์” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด ที่กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงก่อนวิกฤตโควิด หรือในช่วงปี 2560-2561 อัตราการขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ทำให้ผู้ประกอบการมีการลงทุนโรงแรมลักเซอรี่เพิ่มขึ้น และมีกำหนดก่อสร้างเสร็จในปี 2563 จำนวนมาก แต่การแพร่ระบาดของโควิดทำให้มีบางรายชะลอโครงการไป

ขณะเดียวกันก็ยังมีผู้ประกอบการที่ยังเปิดบริการตามไทม์ไลน์ในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 จำนวน 3 ราย คิดเป็นซัพพลายใหม่ 647 ห้องพัก ได้แก่ โรงแรมสินธร
เคมปินสกี แบงค็อก-กรุงเทพ ของกลุ่มสยามสินธร, โรงแรมโฟร์ ซีซั่นส์ โฮเต็ล แบงค็อก แอท เจ้าพระยาริเวอร์ และโรงแรมคาเพลลา กรุงเทพ ของกลุ่มคันทรี่ กรุ๊ป

ส่งผลให้ปี 2563 ซัพพลายสะสมของตลาดโรงแรมลักเซอรี่ในกรุงเทพฯเพิ่มขึ้น 5.5% อยู่ที่ 12,943 ห้องพัก ขณะที่อัตราเข้าพักเฉลี่ยเหลือเพียง 27-28% ถือว่าอยู่ในช่วงขาลง ซึ่งเป็นทิศทางตั้งแต่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์-มีนาคม 2563 ที่สถิติการเข้าพักโรงแรมทั่วประเทศลดลงเป็นลำดับจาก 77.97%-58.39%-20.82% และลดสู่จุดต่ำสุดที่ 2.26% ในเดือนเมษายน

อย่างไรก็ตาม หลังจากคลายล็อกการเดินทางในช่วงเดือนกรกฎาคม คนไทยเริ่มเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้นทำให้หัวเมืองท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะเมืองใกล้กรุงเทพฯ เช่น พัทยา หัวหิน ชะอำ ทำให้ภาพรวมอัตราเข้าพักเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมเพิ่มเป็น 25.41%-26.39% และอยู่ที่ 27.98% ในเดือนกันยายน

หันปล่อยเช่ารายเดือน

“ภัทรชัย” ให้ข้อมูลด้วยว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการโรงแรมระดับลักเซอรี่ในกรุงเทพฯ บางรายมีการปรับตัวนำห้องพักมาปล่อยเช่าระยะยาวหรือปล่อยเช่ารายเดือน โดยลดราคาห้องพัก 50%

และกลยุทธ์ที่โรงแรมลักเซอรี่เริ่มนำมาใช้มากขึ้นตั้งแต่ครึ่งปีหลัง 2563 และเป็นเทรนด์ของปีนี้ด้วยคือ ลดค่าห้องพักแบบเช่ารายวัน 50% ขึ้นไป เพื่อเจาะนักท่องเที่ยวไทย รวมทั้งดัมพ์ค่าห้องพักแบบเช่ารายเดือนหรือการเช่าระยะยาวเหลือ 15,000-20,000 บาท/เดือน เทียบกับช่วงปกติค่าพักรายเดือนสูงถึง 45,000-50,000 บาท

การเปลี่ยนเกมมาดัมพ์ราคาเช่ารายเดือนแบบนี้เป็นการแข่งกับเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์และคอนโดฯหรูทำเลกลางเมือง เพราะโรงแรมมีบริการฟูลออปชั่น ไม่ว่าจะเป็นทำความสะอาดสัปดาห์ละ 2 ครั้ง รวมค่าน้ำ ค่าไฟ และน้ำดื่ม เป็นต้น

ฉวยจังหวะปิดปรับปรุง-รับ ASQ

นอกจากนี้ โรงแรมบางแห่งใช้โอกาสนี้ปรับปรุงโรงแรม โดยอาจจะปิดปรับปรุงเป็นชั้น ๆ หรือปิดทั้งโรงแรมเพื่อเตรียมตัวรองรับแนวโน้มหลังยุคโควิดที่คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะทะลักกลับเข้ามาท่องเที่ยวไทย และมีจำนวน 116 แห่ง เลือกทำ ASQ-alternative state quarantine หรือสถานที่กักกันทางเลือก และทำสถานที่กักกันทางเลือกในพื้นที่ หรือ ALQ-alternative local quarantine 39 แห่ง

โดยโรงแรมขนาดใหญ่บางแห่งที่มีห้องพักเกิน 100 ห้อง มีนักท่องเที่ยวเช็กอินแค่ 2-3 ห้องในช่วงวันธรรมดา พนักงานต้องสลับกันมาทำงานและรับเงินเดือนไม่เต็มเดือน อีกทั้งยังไม่มี service charge การบริการปรับตัวมาทำอาหารแบบดีลิเวอรี่และทำข้าวกล่องขาย เพื่อให้โรงแรมอยู่ได้และพนักงานมีงานทำ ขณะเดียวกันก็ต้องควบคุมค่าใช้จ่าย

หลายแห่งมีการปรับลดพนักงาน 30-35% เพราะต้นทุนพนักงานสูง 1 ใน 4 ของรายได้รวม ขณะที่อีกหลายแห่งแบกรับภาระไม่ไหวมีการปิดกิจการและขายกิจการเป็นจำนวนมาก

คงต้องมาจับตาดูกันว่า ความหวังที่จะมีการฉีด “วัคซีน” ให้กับคนไทย เพื่อให้ประเทศกลับมาเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกันอีกครั้งเพื่อต่อลมหายใจธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมจะสำเร็จได้ในครึ่งปีหลังนี้ตามที่หลาย ๆ ฝ่ายคาดการณ์ไว้หรือไม่…

อ่านข่าวต้นฉบับ: “โรงแรม” ดิ้นปรับตัว วิกฤตยาว ! หันปล่อยเช่ารายเดือน

Credit ข่าวและภาพจาก ฟีดข่าวประชาชาติ : https://www.prachachat.net

Recommend more :

“นกแอร์” พร้อมฟื้นฟู! เร่งลดต้นทุน-หารายได้
“ไทยไลอ้อน” รายได้วูบ-วอนรัฐช่วยซอฟต์โลนพยุงธุรกิจ
ททท.ชี้แบ่งโซนเสี่ยงหนุนเที่ยวโค้งท้าย-สั่งงดกิจกรรมพื้นที่สีแดง
“เซ็นทารา” ขยับรับนิวนอร์มอล เปิดตัวบริการดีลิเวอรี่ “ความงาม-สปา”
การบินไทยอุ้มต่อ “ไทยสมายล์” เพิ่มไฟลต์บิน-ขยายฮับดอนเมือง
ท่องเที่ยวผวาโควิดทุบแผนแอร์ไลน์ แห่ยกเลิกที่พัก-เลื่อนเดินทาง
“รถทัวร์นำเที่ยว” ตายสนิท (คาด) ปี’65 เหลือไม่ถึงหมื่นคัน
บางแสนแตก! คนแห่เที่ยวแน่นหาด อำลาวันสุดท้ายหยุดยาว
ไทยเวียตเจ็ท ขยายเวลาขายตั๋วบุฟเฟ่ต์ ซื้อครั้งเดียวบินไม่อั้นตลอดปี
ททท. คาดหยุดยาว 19-22 พ.ย.นี้ คนไทยออกเที่ยว 3 ล้านคน-ครั้งเงินสะพัด 1.26 หมื่นล้าน
Next Chapter ท่องเที่ยว “ตั้งการ์ดให้พร้อมรับทุกวิกฤต”
“บางกอกแอร์เวย์ส” กลับมาเปิดเที่ยวบินกรุงเทพ-ตราด-สุโขทัย 1 ก.พ.นี้

Leave a Reply