การบินไทยจัดทีมแบ่งสายเคลียร์เจ้าหนี้ เผย 2 กลุ่มตัวแปร
อ่านข่าวต้นฉบับ: การบินไทย กล่อมเจ้าหนี้โหวต ดึง ‘สหกรณ์-แบงก์’ แปลงหนี้เป็นทุน

การบินไทยจัดทีมแบ่งสายเคลียร์เจ้าหนี้ เผย 2 กลุ่มตัวแปรสำคัญเจ้าหนี้หุ้นกู้ 7.1 หมื่นล้าน เจ้าหนี้ธนาคาร 2.9 หมื่นล้าน แบงก์กรุงเทพโต้โผใหญ่ “ชาญศิลป์ ตรีนุชกร” แจงเป็นแผนฟื้นฟูดีที่สุดสำหรับเจ้าหนี้ “ไม่มีแฮร์คัต” ยืดหนี้ 10-12 ปี ออปชั่นแบงก์แปลงหนี้เป็นทุน 50% รอคลัง-แบงก์เคาะใส่เงินเพิ่ม 5 หมื่นล้าน ลุ้นประชุมเจ้าหนี้ 12 พ.ค.นี้ ชี้กรณีแผนไม่ผ่านต้องล้มละลาย เจ้าหนี้จะได้คืนแค่ 13%

ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจรายงานว่า หลังจากที่ผู้ทำแผน บมจ.การบินไทย ได้ยื่นแผนฟื้นฟูที่บริษัทยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีการนัดประชุมเจ้าหนี้ ในวันที่ 12 พ.ค. 2564 ล่าสุด (11 มี.ค.) นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) พร้อมทีมผู้บริหารของการบินไทย ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” และเครือมติชน ถึงรายละเอียดของแผนฟื้นฟูกิจการและความคืบหน้าในการเจรจากับกลุ่มเจ้าหนี้ต่าง ๆ

แบ่งทีมเดินสายกล่อมเจ้าหนี้

นายชาญศิลป์กล่าวว่า แผนฟื้นฟูกิจการที่ยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นแผนที่ลงตัวและเป็นผลดีกับทุกฝ่ายทั้งเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้น เนื่องจากใช้วิธียืดหนี้เงินต้นระยะยาว โดยไม่มีการตัดลดหนี้ (แฮร์คัต) ขอแค่แฮร์คัตดอกเบี้ย รวมทั้งยังมีออปชั่นให้เจ้าหนี้แปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งเชื่อว่าในวันที่ 12 พ.ค.นี้ เจ้าหนี้ส่วนใหญ่จะโหวตผ่านแผนฟื้นฟูดังกล่าว

การโหวตแผนฟื้นฟูมี 2 เงื่อนไข คือ 1.ต้องมีเจ้าหนี้กลุ่มหนึ่งเห็นด้วย 2 ใน 3 ซึ่งประเด็นนี้ไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากทางฝ่ายบริหารเดินสายเจรจาสร้างความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง และมีสัญญาณที่ดี เพราะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการปล่อยให้ล้มละลาย และ 2.ในการประชุมเจ้าหนี้ วันที่ 12 พ.ค.นี้ ต้องมีเสียงโหวตเห็นชอบแผนมากกว่า 50%

“เราแบ่งทีมเจรจาเจ้าหนี้ อย่างกลุ่มสถาบันการเงินก็คือมี คุณบุญทักษ์ หวังเจริญ เป็นหัวหน้าทีม คุณจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ดูแลเจ้าหนี้ในส่วนราชการและประสานงานกับกระทรวงการคลัง คุณปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ก็เจรจากับเจ้าหนี้ธนาคาร ส่วนตัวผมเจรจากลุ่มเจ้าหนี้หุ้นกู้ โดยเจ้าหนี้ทั้งหมดแบ่งเป็น 36 กลุ่ม กลุ่มที่เจรจาค่อนข้างยาก คือ กลุ่มธนาคาร มูลหนี้ประมาณ 29,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นแบงก์เอกชน เป็นน้ำหนักไม่ได้มากเท่ากลุ่มเจ้าหนี้หุ้นกู้ที่มีมูลหนี้รวมประมาณ 71,000 ล้านบาท”

ล้มละลายแบงก์ได้แค่ 13%

นายชาญศิลป์กล่าวว่า ในการทำแผนฟื้นฟูมี 2 มุมมอง คือ ถ้าแผนมีการแฮร์คัตหนี้ (ลดหนี้) มาก เจ้าหนี้ก็จะไม่โหวตให้ ส่วนอีกมุมคือ ถ้าแฮร์คัตน้อย ภาระหนี้ของการบินไทยก็ยังอยู่เยอะ ก็จะทำให้โอกาสการฟื้นฟูกิจการกลับมาก็เป็นไปได้ยาก ดังนั้น วิธีการที่ออกมาคือการแฮร์คัตดอกเบี้ยทั้งหมด และยืดหนี้ออกไปให้ยาวที่สุดเท่าที่จะยาวได้ ซึ่งผลการยืดจ่ายหนี้ก็ทำให้การคิด NPV (net present value) ที่เจ้าหนี้จะได้คืนอยู่ที่ประมาณ 50-60% สำหรับกลุ่มเจ้าหนี้ไม่มีหลักประกัน (แบงก์-หุ้นกู้) แต่ถ้าแผนฟื้นฟูไม่ผ่าน ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทรัพย์สินมาจ่ายคืน เจ้าหนี้ก็จะได้ไม่เกิน 13% ของมูลหนี้ และใช้เวลา 4-5 ปีกว่าจะขายทรัพย์สินได้

ใส่เงินใหม่ 5 หมื่นล้าน

จากความพยายามในการทำแผนและการเดินสายสร้างความเข้าใจกับกลุ่มเจ้าหนี้พบว่า มีสัญญาณที่ดี ขณะที่รัฐบาลก็ยังมองว่าการบินไทยมีความสำคัญกับประเทศ และกระทรวงการคลังในฐานะเจ้าหนี้ค้ำประกันในส่วนของเครื่องบินราว 13,000 ล้านบาท และเป็นผู้ถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมกว่า 60%

ในส่วนของการใส่เงินใหม่เข้าไปเพื่อที่จะสามารถเดินตามแผนฟื้นฟูนั้น ขณะนี้ที่ปรึกษาการเงิน (FA) กำลังเจรจา ซึ่งอาจมีทั้งเงินกู้ เพิ่มทุน โดยในแผนฟื้นฟูได้ระบุไว้ชัดเจนว่า เจ้าหนี้รายเดิม หรือผู้ถือหุ้นรายเดิม ต้องใส่เงินสนับสนุนรวม 50,000 ล้านบาท แบ่งเป็น เจ้าหนี้สถาบันการเงิน 25,000 ล้านบาท และกระทรวงการคลัง 25,000 ล้านบาท ส่วนจะใส่มาในรูปแบบใดนั้นอยู่ระหว่างการเจรจา

ในส่วนของกระทรวงการคลังนั้นก็อยู่ในกระบวนการพิจารณารูปแบบการใส่เงิน จะให้กระทรวงการคลัง หรือกองทุนวายุภักษ์เข้ามา หรือจะเป็นการค้ำประกันเงินกู้ ยังต้องรอการพิจารณา

“การฟื้นฟูการบินไทยจำเป็นต้องใส่เงินใหม่เข้ามา เพราะการกลับมาทำการบินใหม่ต้องใช้เงินจำนวนมาก สำหรับการบำรุงรักษาเครื่องบินที่จอดไว้นาน ๆ และส่วนงานต่าง ๆ แต่จำนวนเงินที่จะใส่ลงมา 5 หมื่นล้านบาท ไม่ได้มาครั้งเดียว จะทยอยเข้ามาเพื่อมาช่วยในการฟื้นฟูกิจการ และทำให้การบินไทยกลับมามีความสามารถในการจ่ายหนี้ในอีก 4-5 ปีข้างหน้า” นายชาญศิลป์กล่าว

พรีเมี่ยมแอร์ไลน์เจาะนิชมาร์เก็ต

นายชาญศิลป์กล่าวด้วยว่า ตามแผนฟื้นฟูได้มีการปรับวางตำแหน่งของการบินไทย ไม่ใช่สายการบินใหญ่ แต่เป็นสายการบินพรีเมี่ยม เน้นทำการตลาดแบบนิชมาร์เก็ต จำนวนเส้นทางบินที่จะให้บริการจะไม่มากเหมือนในอดีต โดยจะเน้นให้บริการเฉพาะเส้นทางบินที่มีกำไรเท่านั้น

โดยมีเป้าหมายประมาณ 75-80 เส้นทางบินในปีที่ 5 ของแผนฟื้นฟู รวมทั้งจะใช้ความแข็งแกร่งในเรื่องอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thai Brand) ซึ่งมีลักษณะเฉพาะของการบินไทยมาเน้นย้ำจุดขายให้มากยิ่งขึ้น

นายชาญศิลป์กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ตามแผนฟื้นฟู 5 ปี บริษัทได้ตั้งกำหนดเป้ารายได้ไว้ว่า ในช่วงแรกของการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูจะมีรายได้ประมาณ 20-30% ของรายได้ปี 2562 และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 80% ของรายได้ปี 2562 ในปีที่ 4 ของการฟื้นฟู หรือปี 2568 และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) ประมาณ 10%

ใช้บทเรียนในอดีตปรับโครงสร้าง

สำหรับในส่วนของโครงสร้างองค์กรใหม่ นายชาญศิลป์กล่าวว่า บริษัทได้เอาบทเรียนในอดีตมาปรับทำโครงสร้างใหม่เพื่อให้กระชับขึ้น การบริหารจัดการคล่องตัว มีประสิทธิภาพ มีขอบเขตการบังคับบัญชาที่เหมาะสม ลดความซ้ำซ้อนของงาน ทำให้ลดจำนวนผู้บริหารจาก 740 อัตรา เหลือราว 500 อัตรา ลดขั้นตอนการบังคับบัญชาจาก 8 ระดับ เหลือ 5 ระดับ

นอกจากนี้ ยังได้เพิ่ม 2 หน่วยงานใหม่ คือ ฝ่ายขับเคลื่อนองค์กร (Transformation) ทำหน้าที่ขับเคลื่อน ประสานเชื่อมโยงและรวบรวมความคิดริเริ่มที่มาจากพนักงาน เพื่อให้พนักงานมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนองค์กร และฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาองค์กร (Corporate Strategy & Development) ทำหน้าที่วางแผน กำหนดทิศทางกลยุทธ์ การสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ของบริษัท และการบริหารจัดการบริษัทในเครือ

ตามโครงสร้างใหม่นี้จะเหลือพนักงานทั้งหมด ประมาณ 14,000-15,000 คน จากปี 2019 ที่มีประมาณ 29,000 คน โดย ณ สิ้นปีที่ผ่านมาเหลือพนักงานราว 2 หมื่นคน ซึ่งขณะนี้ก็มีการเปิดโครงการเออร์ลี่รีไทร์ต่อเนื่อง ซึ่งพนักงานเหล่านี้ถือเป็นผู้เสียสละ และขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดให้พนักงานแจ้งความจำนงย้ายไปอยู่ภายใต้โครงสร้างองค์กรใหม่ เงินเดือนใหม่ และสภาพการจ้างงานใหม่ ที่มีความเป็นอินเตอร์เนชั่นแนล

นอกจากนี้ มีการปรับลดฝูงบินเหลือประมาณ 85-86 ลำ ส่วนหน่วยธุรกิจในเครืออย่าง ครัวการบิน, ฝ่ายช่าง, คาร์โก้ ฯลฯ ซึ่งถือว่าเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ ตามแผนฟื้นฟูก็จะแตกออกมาเป็นบริษัท เพื่อขยายธุรกิจและหาพันธมิตรร่วมทุนต่อไป

หัวใจหลักคือ “ลดต้นทุน”

นายชาญศิลป์กล่าวต่อว่า หัวใจสำคัญของโครงสร้างใหม่ คือ การลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ และเพิ่มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเรื่องการลดค่าใช้จ่าย เนื่องจากเป็นส่วนที่บริษัทสามารถบริหารจัดการได้มากที่สุด โดยตามแผน 5 ปีมีเป้าหมายลดค่าใช้จ่ายประมาณ 35% ทั้งนี้ หลัก ๆ มาจากการลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร และเจรจาขอลดค่าเช่าเครื่องบินได้ประมาณ 30-50% โดยมีการปรับเงื่อนไขเป็นการจ่ายค่าเช่าตามการใช้งานจริง เป็นต้น

“ส่วนนี้เป็นการทำงานของฝ่ายขับเคลื่อนองค์กร ซึ่งเราเริ่มทำมาตั้งแต่เดือน พ.ย. 2563 จนถึง ก.พ. 2564 เราสามารถลดค่าใช้จ่ายไปได้แล้วราว 4,000 ล้านบาท และคิดว่าถึงเดือน ก.ค.จะได้อีกประมาณ 36,000 ล้านบาท โดยตัวเลขนี้ไม่ได้เข้ามาเป็นตัวเงิน แต่เป็นการปรับลดค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น” นายชาญศิลป์กล่าวและว่า

ตอนนี้ภายในบริษัทมีแผนด้านการลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มรายได้รวมกว่า 500 โครงการ ซึ่งมาจากบริษัทที่ปรึกษาแนะนำ และเป็นโครงการที่นำเสนอขึ้นมาจากพนักงานที่ช่วยกันเพื่อให้บริษัทมีรายได้ มีสภาพคล่องในระหว่างที่รอให้เจ้าหนี้เห็นชอบแผนฟื้นฟู

หารายได้พยุงสภาพคล่องรอบทิศ

รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย กล่าวต่อว่า รายได้จากการขายบัตรโดยสาร ขณะนี้ดีมานด์ยังมีไม่มากพอ บริษัทจึงทยอยเป็นให้บริการเที่ยวบินกึ่งพาณิชย์ ให้บริการทั้งผู้โดยสารและคาร์โก้ รวมถึงเที่ยวบินรับคนไทยกลับประเทศบ้าง แต่ยังไม่มากประมาณ 200 เที่ยวต่อเดือน จากในอดีตที่ให้บริการอยู่ประมาณ 200 เที่ยวต่อวัน

ดังนั้น เพื่อเป็นการประคองธุรกิจให้มีสภาพคล่องและเดินต่อไปได้ บริษัทจึงพยายามหารายได้ทุกช่องทาง อาทิ ให้บริการเที่ยวบินพิเศษ, จำหน่ายอาหาร, จำหน่ายสินค้าที่ระลึก ฯลฯ รวมถึงขออนุญาตศาลขายทรัพย์สินบางส่วน เช่น หุ้นบริษัทย่อย, ที่ดินหลักสี่, เครื่องยนต์ไม่ได้ใช้งาน ซึ่งทำให้บริษัทจะมีกระแสเงินสดประคองให้อยู่ต่อไปได้ถึงเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้ ซึ่งเป็นจังหวะพอดีกับที่คาดว่าแผนฟื้นฟูจะได้รับความเห็นชอบ

กล่อมสหกรณ์แปลงหนี้เป็นทุน

นายชาย เอี่ยมศิริ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน และการบัญชี บมจ.การบินไทย เปิดเผยว่า มูลหนี้ของการบินไทยภายใต้แผนฟื้นฟู มีวงเงินประมาณ 1.8-1.9 แสนล้านบาท โดยกลุ่มเจ้าหนี้มีเป็นตัวแปรสำคัญในขณะนี้ คือ ในส่วนของสหกรณ์ออมทรัพย์กว่า 80 แห่ง ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ “หุ้นกู้” 7.1 หมื่นล้านบาท คิดเป็นประมาณ 40% ของมูลหนี้ตามแผนฟื้นฟู ถือว่าเป็นกลุ่มเจ้าหนี้ที่มีเสียงโหวตสูง อีกกลุ่มคือเจ้าหนี้สถาบันการเงิน รวม 2.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งแม้วงเงินไม่เยอะ แต่ถือว่าเป็นกลุ่มสำคัญ ซึ่งเจ้าหนี้ใหญ่ของกลุ่มแบงก์ คือ ธนาคารกรุงเทพ มูลหนี้กว่า 9,000 ล้านบาท และธนาคารกรุงไทย 7 พันกว่าล้านบาท นอกจากนี้ก็มีเอ็กซิมแบงก์ และธนาคารออมสิน

“ต้องบอกว่าแผนฟื้นฟูการบินไทย ถือว่าเป็นแผนที่ดีที่สุดสำหรับเจ้าหนี้เพราะไม่มีการแฮร์คัต (ปรับลดเงินต้น) มีแต่ปรับลดดอกเบี้ย และยืดการชำระหนี้ โดยในส่วนของแบงก์ยืดหนี้ออกไปประมาณ 10-12 ปี พร้อมออปชั่นให้แปลงหนี้ 50% เป็นทุน ซึ่งถ้าแบงก์ที่เลือกออปชั่นแปลงหนี้เป็นทุนด้วยก็จะได้สิทธิ์รับชำระหนี้เร็วขึ้น ส่วนกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์เจ้าหนี้หุ้นกู้ ตามแผนจะขอยืดการชำระหนี้ออกไป 6 ปี หลังจากหุ้นกู้แต่ละรุ่นครบกำหนด แต่ทั้งนี้จะไม่เกิน 14 ปี หลังแผนฟื้นฟูผ่านความเห็นชอบของเจ้าหนี้ นอกจากนี้ในแผนก็มีการเสนอทางเลือกให้สหกรณ์ออมทรัพย์แปลงหนี้เป็นทุนในสัดส่วน 10% 20% และ 30% ของมูลหนี้”

นายชายกล่าวว่า เนื่องจากตามแผนฟื้นฟูไม่มีการแฮร์คัตหนี้ ทำให้การแปลงหนี้เป็นทุนจะเป็นกลไกช่วยลดภาระหนี้ และเท่ากับกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ และกลุ่มสถาบันการเงิน จะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในบ้านหลังใหม่ของการบินไทย ก็เป็นการซื้ออนาคตเมื่อการบินไทยฟื้นฟูสำเร็จ โดยตามแผนจะกลับมาเริ่มชำระหนี้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 หรือพักหนี้ 3 ปี โดยกลุ่มแรกที่จะมีการทยอยชำระหนี้ คือ เจ้าหนี้การค้า มูลหนี้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

อ่านข่าวต้นฉบับ: การบินไทย กล่อมเจ้าหนี้โหวต ดึง ‘สหกรณ์-แบงก์’ แปลงหนี้เป็นทุน

Credit ข่าวและภาพจาก ฟีดข่าวประชาชาติ : https://www.prachachat.net

Recommend more :

“ไทยแอร์เอเชีย” ดัน airasia.com รุก OTA เต็มตัว! ชูจุดแข็งฐานข้อมูล-สายการบิน ทำราคาชิงตลาด
ดีเดย์ 1 มี.ค. เปิดน่านฟ้าให้เครื่องบินต่างชาติจอดพัก-ต่อเครื่องในไทยได้ 
สมาคมคอนโดรุมค้านบัตรอีลิท แลกสิทธิ์ซื้อห้องชุด 10 ล้าน
การบินไทย แจง 3 ปม ผู้สอบบัญชี ไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน
ททท.เดินแผน “ควิกวิน” ปลุกเที่ยวในประเทศ-วันธรรมดา
หนุ่มรีวิวกักตัว เจอขาแมลงสาบในอาหาร โรงแรมแจ้งความแล้ว
“ภูเก็ต” โหมปลุกท่องเที่ยว คาดเริ่มฟื้นตัวเมษายนนี้
ทอท. คุมเข้มมาตรการป้องกันโควิด-19 สร้างความมั่นใจการเดินทาง
“อิมแพ็ค” ยันพร้อมจัดแบดมินตันโลกตลอดเดือนมกราฯนี้
การบินไทย ยันพนักงานมั่นใจแผนฟื้นฟูฯ เดินหน้าสู่โครงสร้างองค์กรใหม่
โรงแรมจี้รัฐพยุงสภาพคล่อง วอนเร่ง “เปิดประเทศ” ก่อนธุรกิจล้มตาย
“การบินไทย” ลดผู้บริหารเหลือ 500 จาก 740 อัตรา ปรับโครงสร้างฟื้นธุรกิจ

Leave a Reply