สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา สมาคมไทยธุรกิจก
อ่านข่าวต้นฉบับ: “ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร” มั่นใจพา ATTA ฝ่าวิกฤตท่องเที่ยว

สัมภาษณ์

เมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ได้จัดประชุมประจำปี 2563 พร้อมทำการเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ เพื่อเข้ามาบริหารสมาคมสมัยที่ 39 ประจำปี 2564-2565

การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้สมัคร 2 ทีมประกอบด้วย 1.ทีม Stronger Together นำโดยนายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร เจ้าของ “ควอลิตี้ เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป” และ 2.ทีม Power of Change นำโดยนางมิ่งขวัญ เมธเมาลี กรรมการผู้จัดการ “อิมเมจ เอเชีย” ผลการเลือกตั้งทีม Stronger Together ชนะแบบขาดลอย

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ร่วมสัมภาษณ์ “ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร” นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) คนใหม่ ถึงภารกิจ แนวทางการดำเนินงาน และเป้าหมายในการเข้ามาบริหารสมาคมในสมัยที่ 39 ไว้ดังนี้

“ศิษฎิวัชร” เกริ่นให้ฟังว่า เขาใช้เวลาอยู่นานมากกว่าจะตัดสินใจสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้ เพราะด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้ วิกฤตเช่นนี้ทุกอย่างไม่ได้ง่าย และส่วนตัวก็ไม่ได้คิดว่าจะกลับมา เพราะไม่ได้ต้องการตำแหน่งหรือชื่อเสียง แต่ผู้ใหญ่หลาย ๆ คนในวงการก็อยากหาคนที่เหมาะสม มีประสบการณ์เข้ามาช่วยกันร่วมผลักดันและแก้ไขปัญหาในหลาย ๆ ด้าน

“ผู้ใหญ่หลายคนบอกว่า ผมเหมาะสมกว่า สามารถประสานและทำงานร่วมกับองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนได้เข้าใจ ผมจึงตอบตกลงและอาสาเข้ามาทำงานครั้งนี้”

“ศิษฎิวัชร” บอกว่า นโยบายการหาเสียงที่ผ่านมาได้ระบุเป้าหมายผลักดันไว้ 6 เรื่องหลัก ๆ ประกอบด้วย

1.มาตรการเงินเยียวยา, พักชำระหนี้, และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเร่งด่วน

2.จัดตั้งกองทุนยามวิกฤตแห่งชาติ โดยภาครัฐสำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ

3.ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงรุกทั่วโลก โดยโฟกัสประเทศที่มีความพร้อมตามลำดับ

4.ให้บุคลากรการท่องเที่ยวได้รับวัคซีนเร่งด่วน และผลักดันระบบ vaccine passports

5.แก้ไขโครงสร้างภาษีธุรกิจท่องเที่ยวให้เป็นรูปแบบ “เศรษฐกิจพิเศษ” อัตราต่ำหรือยกเว้น

6.เพิ่มบริการแอตต้าเป็นศูนย์ข้อมูลคู่ค้า จับคู่ธุรกิจระหว่างบริษัทนำเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว ขนส่ง ฯลฯ

และ 7.ยกเว้นค่าสมาชิก

“ศิษฎิวัชร” บอกอีกว่า ประเด็นหลัก ๆ ที่ต้องเร่งดำเนินการคือการขอให้รัฐบาลเยียวยา ดูแล วงการท่องเที่ยว หรือถ้ามีซอฟต์โลน หรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการด้วยก็จะดี เพราะที่ผ่านมารัฐบาลก็มีโครงการลักษณะนี้ออกมาแล้ว แต่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวจำนวนมากยังเข้าไม่ถึง ทำให้บริษัทนำเที่ยวจำนวนหนึ่งต้องปิดตัวชั่วคราวไป

ดังนั้นหากรัฐเข้ามาช่วยดูแล บริษัทเหล่านี้ก็จะสามารถกลับมาและช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศต่อไปได้เพราะเชื่อว่าสำหรับประเทศไทยนั้น “การท่องเที่ยว” จะยังมีศักยภาพในการสร้างรายได้สูง และจะกลับมาเป็น “พระเอก” และเป็นตัวขับเคลื่อน GDP ของประเทศได้เหมือนช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19

อีกประเด็นที่ต้องเร่งผลักดันคือจัดตั้งกองทุนสำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยว เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเมื่อเกิดวิกฤต ส่วนโมเดลจะออกมาแบบไหน จัดเก็บอย่างไร มูลค่ากองทุนควรเป็นเท่าไหร่นั้นคงต้องเชิญผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเข้ามาร่วมหารือต่อไป เพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวแข็งแรงขึ้น และมั่นใจได้ว่าไม่ว่าจะเกิดวิกฤตอีกกี่ครั้งผู้ประกอบการจะไม่ล้มหายและตายจากไปเหมือนครั้งนี้

“ศิษฎิวัชร” บอกด้วยว่า ตัวเขาเองเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวที่มองว่าประเด็นนี้จำเป็นมากสำหรับวงการท่องเที่ยว เพราะไม่มีอาชีพไหน หรืออุตสาหกรรมไหนที่สร้าง GDP ให้ประเทศได้สูงขนาดนี้

และเชื่อว่าในอีก 100 ปีข้างหน้าการท่องเที่ยวก็จะยังคงมีบทบาทมากขึ้นเพราะประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา, เยอรมนี, สเปน ฯลฯ หรือแม้แต่ญี่ปุ่นก็ล้วนใช้การท่องเที่ยวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้นทุกภาคส่วนควรมาร่วมกันวางรากฐานให้การท่องเที่ยวของไทยมีความแข็งแรง

“เรื่องนี้วงการท่องเที่ยวเราได้นำเสนอไปหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการสานต่อ ผมว่าจากวิกฤตที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาน่าจะทำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาครัฐเข้าใจถึงความจำเป็นในการจัดตั้ง และน่าจะเห็นชอบดำเนินการต่อไป”

นอกจากนี้ยังเสนอให้รัฐแก้ไขโครงสร้างภาษีธุรกิจท่องเที่ยวใหม่ โดยให้ยกเว้น หรือจัดเก็บในอัตราต่ำ หรือให้เป็นไปตามมาตรฐานของธุรกิจส่งออก เพราะการท่องเที่ยวนั้นถือว่าเป็นการส่งออกบริการ นำรายได้เข้าประเทศ และช่วยกระจายรายได้ลงสู่ทุกภาคส่วน

“ศิษฎิวัชร” ยังบอกอีกว่า สำหรับประเด็นที่ต้องผลักดันทันทีคือการส่งเสริมการทำการตลาดเชิงรุก พร้อมผลักดันให้รัฐบาลเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัว โดยโฟกัสประเทศที่มีความพร้อมตามลำดับก่อน-หลัง

“ในเรื่องของไทม์ไลน์การเปิดรับต่างชาติแบบไม่กักตัวนั้นจริง ๆ เราอยากให้เริ่ม 1 กรกฎาคมนี้ ตามที่ทีมคณะบริหารชุดเดิมของสมาคมนำเสนอภาครัฐไปแล้ว แต่ก็คงต้องดูภาพรวมอีกครั้ง อย่างไรก็ตามถ้าสามารถเปิดได้ภายในปีนี้จะดีที่สุด เพราะอีกประมาณ 3-6 เดือน การกระจายวัคซีนจะทั่วถึงได้ระดับหนึ่งแล้ว”

ต่อคำถามที่ว่า การอาสาเข้ามาบริหารครั้งนี้มีประเด็นอะไรที่หนักใจไหม “ศิษฎิวัชร” บอกว่า ตัวเขาเองนั้นเคยบริหารงานในตำแหน่งนายกสมาคม ATTA มาแล้ว 2 วาระคือ สมัยที่ 34 และ 35 (ระหว่างปี 2554-2557) และอยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวมายาวนาน ผ่านมาแล้วหลายวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์สึนามิ, ไข้หวัดนก, โรคซาร์ส, การเมืองเหลือง-แดง ฯลฯ และผ่านมาได้ทุกวิกฤต แต่โควิด-19 ครั้งนี้เป็นวิกฤตหนักสุดในประวัติศาสตร์

พร้อมทั้งย้ำว่า สิ่งที่ท้าทายและหนักใจสุดคือ สมาคมแอตต้ามีพนักงานที่ต้องดูแลทั้งหมดเกือบ 100 คน มีค่าใช้จ่ายเยอะมาก แต่ไม่มีรายรับซึ่งปกติได้จากค่าบริการอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวที่สนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา แต่ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เขามั่นใจว่าจะสามารถนำพาองค์กรแอตต้าที่อยู่มานานกว่า 50 ปี ให้อยู่รอดต่อไปได้

รวมทั้งช่วยวางรากฐานในหลาย ๆเรื่อง หลาย ๆ ประเด็น และร่วมแก้ปัญหาภาคท่องเที่ยว เพื่อทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยกลับมาแข็งแรงได้อีกครั้ง…

อ่านข่าวต้นฉบับ: “ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร” มั่นใจพา ATTA ฝ่าวิกฤตท่องเที่ยว

Credit ข่าวและภาพจาก ฟีดข่าวประชาชาติ : https://www.prachachat.net

Recommend more :

ททท.ผุดโครงการ WAT ทริป “ศรัทธานำทาง เส้นทางนำเที่ยว” เที่ยวฟรี 10 เส้นทางทั่วไทย
มิติใหม่ “มาตรฐาน” เที่ยวไทย ต่างชาติเข้าไทยจ่าย 300 เข้ากองทุน
“เราเที่ยวด้วยกัน” เพิ่มสิทธิ์ห้องพักเป็น 15 คืน-ลดค่าตั๋วบิน 7 จังหวัด
ลุ้น “วัคซีน” ปลุกท่องเที่ยว ขอ 5 ล้านโดสฉีด 5 จังหวัด
พัทยา ทุ่ม 755 ล้านบูมเกาะล้าน-นาเกลือ กระตุ้นนักท่องเที่ยว 
ชงครม. เลื่อนวันเข้าพัก “เราเที่ยวด้วยกัน” ยืดเวลาถึง 31 ต.ค.64
“บินไทย” รุกเปิดคีออสขายปาท่องโก๋รับกระแสแห่งแรก ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์
ครม.สัญจรภูเก็ต ไฟเขียว อนุรักษ์-ฟื้นฟูชายฝั่งอันดามัน 12 โครงการ 2,298 ล้าน
แฉสารพัดกลโกง เราเที่ยวด้วยกัน เลื่อนลงทะเบียนใหม่ไม่มีกำหนด
“ซี.พี.แลนด์” เชื่อมั่นเที่ยวไทย ทุ่มพันล้านลงทุนโรงแรมใหม่
“การบินไทย” บินปฐมฤกษ์ นำ 16 ชาวต่างชาติ แลนดิ้งภูเก็ตแล้ว
เราเที่ยวด้วยกัน เปิดเฟส 3 เพิ่ม 2 ล้านสิทธิ์ห้องพัก ใช้ได้ถึง ก.ค.

Leave a Reply