สัมภาษณ์ ท่ามกลางการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในช
อ่านข่าวต้นฉบับ: BA ตั้งรับ “แซนด์บ็อกซ์” คาดกลับมากำไรอีกครั้งปี’67

สัมภาษณ์

ท่ามกลางการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจสายการบินเป็นเซ็กเตอร์หนึ่งที่มีการแข่งขันที่สูงมาก โดยเฉพาะการแข่งขันด้าน “ราคา” โดยสะท้อนชัดเจนจากผลประกอบการของธุรกิจสายการบินที่ไม่ค่อยดีนักมาตั้งแต่ปี 2561-2562 ที่เริ่มเห็นตัวเลขขาดทุน เมื่อต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ในปี 2563 ยิ่งทำให้ธุรกิจสายการบิน “วิกฤต” หนักยิ่งขึ้น

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ร่วมสัมภาษณ์ “พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ผู้บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ถึงภาพรวมธุรกิจการบิน แผนธุรกิจ และทิศทางการดำเนินธุรกิจท่ามกลางวิกฤตโควิด รวมถึงแผนการลงทุนของกลุ่มบริษัทการบินกรุงเทพ ไว้ดังนี้

พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ
พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA

ธุรกิจการบินยังซบต่อเนื่อง

“พุฒิพงศ์” บอกว่า หลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดรอบแรก ภาพรวมของธุรกิจการบินเริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ผู้โดยสารเริ่มกลับมาเดินทางกันอีกครั้ง ยอดจองการเดินทางของบางกอกแอร์เวย์สในทุกเส้นทางช่วงต้นเดือนธันวาคมเข้ามาวันละกว่า 5,000 คน (จากช่วงปกติก่อนโควิดวันละกว่า 10,000 คน) ส่งผลถึงยอดจองเดินทางในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 เริ่มกลับมาคึกคัก

แต่พอเจอการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ยอดจองการเดินทางตกลงทันที และเหลือวันละไม่ถึง 1,000 คน กระทั่งลดลงต่ำสุดเหลือวันละ 200 กว่าคน ในช่วงเดือนมกราคม 2564

เรียกว่าเป็น “ตัวเลข” ต่ำสุดในประวัติศาสตร์ของบางกอกแอร์เวย์สที่เปิดให้บริการ

“ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมาคนไทยแทบจะหยุดการเดินทางกันอีกครั้ง ขณะที่เราเห็นสัญญาณในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนว่าสถานการณ์เริ่มกลับมาดี จึงเริ่มเปิดเส้นทางบินเพิ่มอีกครั้ง สุดท้ายผู้โดยสารไม่เดินทาง เส้นทางบินที่เปิดไปแล้วเราเลยลดไม่ทัน ก็จำต้องแบกรับต้นทุนไป กระทั่งขณะนี้มีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ราววันละ 1,000 คนเท่านั้น ยังกลับมาได้ไม่เท่ากับช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมปีที่แล้ว ยกเว้นเฉพาะช่วงวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์เท่านั้น ทำให้ภาพรวมของเราถอยกลับมาตั้งหลักอีกครั้ง”

ทยอยเพิ่มเส้นทางบินใน ปท.

“พุฒิพงศ์” บอกด้วยว่า ปัจจุบันสายการบิน “บางกอกแอร์เวย์ส” ให้บริการเส้นทางบินภายในประเทศจำนวน 8 เส้นทางบิน ประกอบด้วย เส้นทางจากกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) สู่ สมุย, กระบี่, ภูเก็ต, เชียงใหม่, ลำปาง, สุโขทัย, ตราด และเส้นทางหาดใหญ่-ภูเก็ต รวมทั้งหมดประมาณ 20 เที่ยวบินต่อวัน (ไป-กลับ) มีเครื่องบินทั้งหมด 39 ลำ ขณะนี้ใช้ทำการบินอยู่แค่ 15 ลำ ที่เหลืออีกเกินครึ่งยังทำอะไรไม่ได้ ต้องจอดอยู่ในลานจอดต่อไป

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังคงมีแผนจะทยอยเพิ่มเส้นทางบินตามดีมานด์ของตลาดต่อเนื่องเช่นกัน อาทิ เส้นทางบินกรุงเทพฯ-แม่สอด ในเดือนมิถุนายน (แผนเดิมที่เลื่อนมาจากช่วงก่อนวิกฤตโควิด) จากนั้นมีแผนเพิ่มเส้นทางภูเก็ต-สมุย และภูเก็ต-อู่ตะเภาในช่วงเดือนกรกฎาคม และเส้นทางเชียงใหม่-ภูเก็ต และเชียงใหม่-กระบี่ ในเดือนตุลาคมนี้

ทั้งนี้ คาดว่าภายในปีนี้ “บางกอกแอร์เวย์ส” จะกลับมาให้บริการเส้นทางบินภายในประเทศได้ประมาณ 30-40% เมื่อเทียบกับช่วงปี 2562 (ก่อนโควิด) เพราะยังไม่สามารถเพิ่มความถี่เที่ยวบินในแต่ละเส้นทางได้มากนัก

จ่อบิน ตปท.รับ Sand Box

สำหรับเส้นทางบินระหว่างประเทศนั้น “พุฒิพงศ์” บอกว่า ถ้าแผนทุกอย่างเป็นไปตามไทม์ไลน์การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่กักตัว หรือตามโมเดล sand box (แซนด์บ็อกซ์) ของรัฐบาลที่เริ่มจากมาตรการลดวันกักตัวเหลือ 7, 10 วัน ตั้งแต่เดือนเมษายนนี้ใน 6 เมืองท่องเที่ยวหลัก

และเลิกกักตัวนักท่องเที่ยวที่ภูเก็ตในเดือนกรกฎาคม และตุลาคมเลิกกักตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติในอีก 6 เมืองท่องเที่ยวหลักก็น่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการกลับมารีสตาร์ตเส้นทางบินระหว่างประเทศอีกครั้ง

โดยขณะนี้ได้เริ่มศึกษาเพื่อเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศและในประเทศเพื่อรองรับโมเดล sand box แล้วเช่นกัน โดยใช้ฮับการบินที่สมุย (สุราษฎร์ธานี) เช่น เส้นทางสมุย-สิงคโปร์, สมุย-ฮ่องกง ในช่วงเดือนกรกฎาคม และเส้นทางบินกรุงเทพฯ-พนมเปญ (กัมพูชา), กรุงเทพฯ-ย่างกุ้ง (เมียนมา) ในช่วงเดือนตุลาคม

นอกจากนี้ ยังศึกษาและเตรียมความพร้อมสำหรับเปิดเส้นทางบินสู่จีนอีกจำนวนหนึ่ง รวมถึงทำการศึกษาแผนการนำเครื่องบินที่เหลือ กลับมาใช้ด้วย

“ทั้งหมดนี้เป็นแผนที่เราเตรียมความพร้อมไว้ เพราะ ณ เวลานี้เราประเมินว่าเมื่อถึงเวลานั้นสถานการณ์โดยรวมของไวรัสโควิดน่าจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ส่วนจะเปิดได้เร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับประเทศปลายทางนั้น ๆ ด้วยว่าเขามีความพร้อมสำหรับเปิดประเทศแค่ไหนด้วย”

และไม่เพียงแค่เส้นทางบินระหว่างประเทศเท่านั้น “บางกอกแอร์เวย์ส” ยังมีแผนเปิดเส้นทางบินภายในประเทศเพื่อรองรับโมเดล sand box ด้วยเช่นกัน คือเส้นทางภูเก็ต-สมุย, ภูเก็ต-อู่ตะเภา, เชียงใหม่-ภูเก็ต และเชียงใหม่-กระบี่ ซึ่งมีแผนจะเปิดในช่วงเดือนกรกฎาคมและตุลาคมนี้

ผู้โดยสาร-รายได้’64 ต่ำกว่าปี’63

เมื่อถามถึงการคาดการณ์จำนวนผู้โดยสารและรายได้สำหรับปีนี้ “พุฒิพงศ์” บอกว่า โดยรวมของปี 2564 นี้ประเมินว่าตัวเลขทั้งจำนวนผู้โดยสารและรายได้จะต่ำกว่าปี 2563 ที่ผ่านมา โดยมีผู้โดยสารประมาณ 1.61 ล้านคน และมีรายได้จากผู้โดยสารรวมประมาณ 3,392 ล้านบาท ต่ำกว่าปี 2563 ที่มีผู้โดยสาร 1.89 ล้านคน และมีรายได้จากผู้โดยสาร 5,558 ล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากในปี 2563 มีรายได้ช่วง 2 เดือนแรก (มกราคม-กุมภาพันธ์) สูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2562

“ในปี 2562 ก่อนวิกฤตโควิดเรามีจำนวนผู้โดยสาร 5.86 ล้านคน มีรายได้จากผู้โดยสารรวม 19,000 ล้านบาท นั่นหมายความว่า การคาดการณ์รายได้รวมของปี 2564 นี้ต่ำกว่าปี 2563 ประมาณ 40% และหากเทียบกับปี 2562 พบว่ายังต่ำกว่าถึง 80%”

อย่างไรก็ตามสำหรับปี 2564 ต่อเนื่องถึงปี 2565 นี้บริษัทน่าจะเป็นปีที่สามารถบริหารจัดการต้นทุนบางส่วนได้ดีขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนค่าเครื่องบิน เพราะมีเครื่องบินที่หมดสัญญาและต้องส่งคืนจำนวน 1 ลำ หลังจากปีที่แล้วคืนไปแล้ว 1 ลำ และมีแผนคืนอีก 6 ลำในปีหน้า

ตั้งเป้าปี’67 กลับมามีกำไร

“พุฒิพงศ์” บอกว่า จากแผนดังกล่าวนี้คาดว่าจะทำให้รายได้และผู้โดยสารในปี 2565 กลับมาได้ประมาณ 30-50% และเพิ่มเป็น 60-80% ในปี 2566 และกลับมาได้เท่ากับหรือใกล้เคียงกับปี 2562 ได้ภายในปี 2567 ซึ่งสอดรับกับคาดการณ์ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA)

และคาดหวังว่า ปี 2567 น่าจะเป็นปีที่ “บางกอกแอร์เวย์ส” กลับมามี “กำไร” ได้อีกครั้ง ในรอบ 5 ปี หลังจากที่เผชิญกับวิกฤตโควิด…

อู่ตะเภา-MRO จิ๊กซอว์ใหม่ บางกอกแอร์เวย์ส

แม้ “บางกอกแอร์เวย์ส” จะยังประเมินว่าธุรกิจการบินของไทยและทั่วโลกจะยังไม่สดใสนักและยังต้องใช้เวลาอีกถึงประมาณ 4-5 ปีในการฟื้นฟู (recover) ให้ธุรกิจกลับมาได้ใกล้เคียงกับปี 2562 หรือก่อนวิกฤตโควิด

อู่ตะเภา

แต่ “พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ” นายใหญ่ยังเชื่อว่า ด้วยสินทรัพย์ที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นอาคารสำนักงาน, เครื่องบิน, สนามบิน (สมุย, สุโขทัย และตราด) ฯลฯ ทำให้บริษัทการบินบางกอก หรือบางกอกแอร์เวย์ส ได้รับผลกระทบด้านเงินทุนหมุนเวียนไม่หนักเท่าสายการบินบางแห่ง ยังสามารถกู้สถาบันการเงินเข้ามาหมุนเวียนได้ในระดับหนึ่ง

ที่สำคัญ ยังทำให้บริษัทมีศักยภาพในการลงทุนต่อเนื่องได้ตามแผนที่วางไว้ โดย 2 โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่อยู่ในแผนขณะนี้คือ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนที่ใช้เงินลงทุนประมาณ 2.9 แสนล้านบาท

“พุฒิพงศ์” บอกว่า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นการลงทุนขนาดใหญ่ที่ร่วมกับอีก 2 พาร์ตเนอร์ คือ กลุ่มทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ และซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งฯ ซึ่งได้ธนาคารสนับสนุนด้านการเงินแล้ว โดยเบื้องต้นเฟสแรกคาดว่าน่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 30,000 ล้านบาท

โดยการก่อสร้างจะเริ่มในปี 2565 และแล้วเสร็จในปี 2568 รองรับจำนวนผู้โดยสารที่ 15.9 ล้านคนต่อปี เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็น “สนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลัก แห่งที่ 3” เชื่อมสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิด้วยรถไฟความเร็วสูง

ส่วนอีกโครงการคือ โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน หรือ MRO ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC โดยบริษัทได้แจ้งความประสงค์เข้าลงทุนแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างให้ฝ่ายซ่อมบำรุงทำข้อมูลเพื่อนำเสนอ โดยเริ่มต้นจากอากาศยานลำตัวแคบจำนวน 4 ลำ ภายใต้ชื่อโครงการโรงซ่อมอากาศยานของบางกอกแอร์เวย์สในพื้นที่อีอีซี

ทั้งนี้ คาดว่าทั้งโครงการจะใช้เงินลงทุนราว 1,000 ล้านบาท โดยเบื้องต้นเฟสแรกน่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 500-600 ล้านบาท (รองรับเครื่องบินลำตัวแคบจอด 2 ลำ)

หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนน่าจะใช้เวลาทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ได้ในปี 2565 และเริ่มก่อสร้างในปี 2565 และแล้วเสร็จในปี 2567

“เรามองว่าประเทศไทยยังไม่มีศูนย์ซ่อม ส่วนที่มีอยู่เป็นเพียงศูนย์ซ่อมของสายการบินแต่ละแห่งที่ซ่อมเครื่องบินของตัวเองเท่านั้น ที่สำคัญ มองว่าเราอยู่ในพื้นที่ตรงนี้น่าจะสามารถทำต้นทุนได้ดีและสามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์, อินโดนีเซีย หรือฟิลิปปินส์”

“พุฒิพงศ์” ยังบอกด้วยว่า หากมองยาวไปอีก 4-5 ปี หรือในปี 2568 ทั้งโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน หรือ MRO ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC แล้วเสร็จจะเป็นปีที่คาดว่าธุรกิจสายการบินสามารถกลับมาพลิกฟื้น และมีศักยภาพในการทำรายได้และกำไรแล้วเช่นกัน

และเมื่อถึงวันนั้นบริษัทสามารถเอาธุรกิจสายการบินไปต่อยอดธุรกิจ “อู่ตะเภา” ได้มหาศาล ไม่ว่าจะเป็นการหาพันธมิตรการบิน หรือการใช้อู่ตะเภาเป็นฮับการบินใหญ่ของ “บางกอกแอร์เวย์ส” เป็นต้น

พูดง่าย ๆ คือ ทั้ง 2 โครงการใหญ่นี้จะเป็น “จิ๊กซอว์” ตัวใหม่ที่ช่วยต่อยอดให้กับ “บางกอกแอร์เวย์ส” อีกมหาศาลแน่นอน…

อ่านข่าวต้นฉบับ: BA ตั้งรับ “แซนด์บ็อกซ์” คาดกลับมากำไรอีกครั้งปี’67

Credit ข่าวและภาพจาก ฟีดข่าวประชาชาติ : https://www.prachachat.net

Recommend more :

“ไมเนอร์ โฮเทลส์” ขยับรุกเวลเนส-อาหารรับธุรกิจฟื้น
อพท.ยกระดับชุมชนท่องเที่ยว! ผนึกยูเนสโกใช้ VMAT จัดการแหล่งท่องเที่ยวครั้งแรกของไทย
ลุ้น “โกดังพักหนี้” ความหวัง-ทางรอด โรงแรมไทย
“Beat Hotel” ปรับโซลูชั่น สู่ “เซอร์วิสเรซิเดนต์”
“อิมแพ็ค” ยันพร้อมจัดแบดมินตันโลกตลอดเดือนมกราฯนี้
ดีเดย์ 1 มี.ค. เปิดน่านฟ้าให้เครื่องบินต่างชาติจอดพัก-ต่อเครื่องในไทยได้ 
“เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 3 เผือกร้อน ททท.
แผนฟื้นฟู “การบินไทย” ป่วน เจ้าหนี้ใหญ่ขวางแฮร์คัต70%
บอร์ดการบินพลเรือน เคาะ “นกสกู๊ต” เลิกกิจการ
เอกชนฟันธงเศรษฐกิจ ปี’64 ฟื้น บูมเมืองรองกระตุ้นท่องเที่ยว
“ท่องเที่ยว” ผ่านจุดต่ำสุด ถึงเวลาวางรากฐานใหม่รับนักท่องเที่ยว
ธุรกิจ “แอร์ไลน์” 9 เดือนแรกอ่วม TG ขาดทุน 4.9 หมื่นล้าน

Leave a Reply