วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งในเชิงน
อ่านข่าวต้นฉบับ: เปิดวิจัยผลกระทบ “โควิด” กับทิศทาง “ท่องเที่ยว” ในอนาคต

วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งในเชิงนโยบาย โครงการธุรกิจ รวมถึงรูปแบบการท่องเที่ยว “ชุดโครงการสังเคราะห์งานวิจัยและผลักดันงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์” ได้ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา SAT (การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์) สกสว. จัดเสวนา “ผลกระทบจากโควิดกับทิศทางการท่องเที่ยวและงานวิจัยด้านการท่องเที่ยวในอนาคต”

นำเสนองานวิจัยในชุดโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่อยู่ระหว่างการศึกษานำไปเผยแพร่ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์

โดยมีผู้ร่วมเสวนาทั้งภาครัฐ เอกชน นักวิชาการประกอบด้วย รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.), นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, นายมงคล วิมลรัตน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภาวดี โพธิยะราช ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผู้เชี่ยวชาญระดับสูงสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.)

ดร.เกศรา สุกเพชร ผู้ประสานงานโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์, ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผู้อำนวยการแผนการศึกษาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อภาคเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวไทย, ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ผู้อำนวยการแผนงานยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนาสำหรับการท่องเที่ยวไทยหลังโควิด-19, ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) และ ศ.วิทวัส รุ่งเรืองผล ผู้อำนวยการแผนงานโครงการสังเคราะห์งานวิจัยและผลักดันงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์

“ประชาชาติธุรกิจ” ขอคัดข้อความบางส่วนมานำเสนอ โดยโฟกัสในประเด็นของผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในภาพรวม รวมถึงข้อเสนอแนะสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการภาคเอกชน และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยวเพื่อนำมาต่อยอดในเชิงนโยบายต่อไป

เที่ยวไทยขับเคลื่อนด้วยดีมานด์

“ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด” ผู้อำนวยการแผนงานยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนาสำหรับการท่องเที่ยวไทยหลังโควิด-19 ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาปัจจัยในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทยก่อนโควิด-19 คือ ฝั่งดีมานด์ โดยมีซัพพลายไล่ตาม ขณะที่ทั่วโลกซัพพลายเป็นตัวขับเคลื่อนด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรองรับดีมานด์

โดยข้อดีของการขับเคลื่อนโดยดีมานด์ คือ การลงทุนไม่สูญเปล่า แต่จุดอ่อนคือ เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม เกิด “โอเวอร์ทัวริซึ่ม” หรือมีนักท่องเที่ยวเกินขีดความสามารถในการรองรับของระบบท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (PATA) ระบุว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาภาพรวมของธุรกิจท่องเที่ยวของไทยอยู่ในช่วงที่ตลาดดีมาก ตลาดจีนคู่แข่งของไทย คือ ญี่ปุ่น ซึ่งตอนนี้กำลังหายใจรดต้นคอไทย ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวจีน 10 ล้านคน ญี่ปุ่นมีนักท่องเที่ยวกว่า 9 ล้านคน และคาดว่ากำลังจะแซงเพราะว่าความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวของญี่ปุ่นดีมาก

ส่วนตลาดเกาหลีใต้ก็มีลักษณะเดียวกัน แต่คู่แข่งของไทย คือ เวียดนาม มาเลเซีย ทั้ง 2 ประเทศนี้มีกาสิโน กอล์ฟ ซึ่งคนเกาหลีชอบ ส่วนตลาดรัสเซียไม่มีปัญหาเลยประเทศไทยเป็นดาวรุ่ง ทิ้งประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนค่อนข้างมากที่สำคัญรัสเซียเป็นประเทศที่มีการใช้จ่ายสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกด้วย

แต่ตลาดที่เป็นปัญหา คือ อาเซียน แม้ว่าจะขยายตัวสูงแต่ประเทศในอาเซียนเดินทางระหว่างอาเซียนด้วยกันเองลดลง ส่วนตลาดที่อยู่ในภาวะถดถอย คือ ตลาดยุโรปตะวันตก, โอเชียเนีย (ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) และอเมริกาเหนือ ขณะที่ตลาดญี่ปุ่นยังเป็นตลาดที่ดี

คาดทั่วโลกฟื้นตัวปี’67

นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าทั่วโลกจะฟื้นตัวในปี 2567 โดยจีนน่าจะฟื้นก่อนในช่วงปี 2566 โดยรูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนจะมาก่อนการเดินทางแบบธุรกิจ ขณะที่การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยก็จะช้ามาก โดยคาดว่าธุรกิจสายการบินจะฟื้นตัวในปี 2569 ส่วนภาคธุรกิจโรงแรมที่พัก คาดว่าจะฟื้นตัวประมาณปี 2571 และธุรกิจทัวร์จะฟื้นตัวในปี 2573

นั่นหมายความว่า ภาคธุรกิจท่องเที่ยวทั้งหมดของไทยยังคงต้องอยู่กับไวรัสโควิด-19 ไปอีกระยะหนึ่ง โดยในระยะสั้นเป็นเรื่องที่วัคซีนต้องมาก่อน และทำให้ผู้ประกอบการเดินต่อได้ไม่ให้ตกเป็นของต่างชาติ ที่สำคัญต้องมีวอร์รูมท่องเที่ยวสำหรับถอดบทเรียนเพื่อเตรียมตัวให้สอดรับกับสถานการณ์ด้วย

แรงงานถูกเลิกจ้าง-คนจนพุ่ง

ด้าน “ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์” ผู้อำนวยการแผนการศึกษาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อภาคเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทย บอกว่า การวิจัยนี้เน้นศึกษา 2 ด้าน คือ ผลกระทบด้านธุรกิจท่องเที่ยว และด้านเศรษฐกิจโดยรวม โดยดูผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในรอบแรก และระลอก 2 เท่านั้น ไม่รวมผลกระทบระลอก 3 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ขณะนี้ พร้อมทั้งย้ำว่าผลที่ได้ครั้งนี้เป็นข้อมูลเพียง 50% ของงานวิจัยทั้งหมด

โดยผลที่ได้ คือ ในภาพรวมนั้นการแพร่ระบาดของโควิดทั้ง 2 ระลอกที่ผ่านมาทำให้ตัวเลขดัชนีทางเศรษฐกิจหลาย ๆ ด้านลดลง ไม่ว่าจะเป็น GDP อัตราเงินเฟ้อ สวัสดิการสังคม กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งการส่งออก การนำเข้า การบริโภค มีเพียงการลงทุนเท่านั้นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดจากเงินทุนไหลเข้าจากประเทศอื่น โดยเฉพาะจากประเทศที่มีการหดตัวทางเศรษฐกิจสูงกว่า

ส่วนผลกระทบต่อตลาดแรงงานพบว่า แรงงานที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ สาขาโรงแรม ที่พักและอาหาร โดยคาดว่ามีผู้ว่างงาน 1.29 ล้านคนและมีรายได้ลดลงร้อยละ 46

อย่างไรก็ตาม หากดูในภาพรวมพบว่าโควิด-19 ทำให้คนไทยกลายเป็นคนจน และคนเกือบจนมากขึ้นจาก 9.8 ล้านคนเป็น 13.8 ล้านคน (ระลอกแรก) และเพิ่มเป็น 17 ล้านคนในระลอก 2 นอกจากนี้ยังพบว่ามาตรการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐยังเข้าไม่ถึงคนท่องเที่ยวมากนัก

และจากการศึกษาผลกระทบโควิด-19 ต่อภาคการโรงแรม ที่พัก พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติส่งผลกระทบต่อรายรับของโรงแรมแตกต่างกันตามลักษณะของโรงแรม โดยนักท่องเที่ยวชาวไทยจะสำคัญต่อรายรับของโรงแรมขนาดกลาง และขนาดเล็ก ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติสำคัญต่อรายรับของโรงแรมทุกขนาดที่มีราคาระดับกลางถึงระดับสูง

ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีนัยสำคัญกับรายรับของสถานประกอบการภาคโรงแรม โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง 1 คน ทำให้รายรับของโรงแรมลดลงเฉลี่ย 1,365.3 บาท และพบว่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1 คน เท่ากับคนไทยเที่ยว 5 คน

นี่คือ เหตุผลที่รัฐบาลต้องเร่งเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

ฉีดวัคซีนเรียกความเชื่อมั่น

“ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์” เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ให้ข้อมูลว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านแทรเวลเอเย่นต์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากปี 2560-2562 ที่ลดลงอย่างชัดเจน

ประเด็นสำคัญ คือ พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเปลี่ยน จากเดิมที่เดินทางเป็นหมู่คณะ เดินทางผ่านเอเย่นต์ เปลี่ยนเป็นเดินทางด้วยตัวเองมากขึ้น

“ดร.อดิษฐ์” บอกว่า เห็นด้วยกับข้อมูลของ “ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด” ที่ระบุว่า ภาคการท่องเที่ยวของไทยในช่วงที่ผ่านมาใช้ดีมานด์เป็นตัวขับเคลื่อน ทำให้เกิดการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวในเมืองหลัก ทำให้เห็นชัดเจนว่าที่ผ่านมาการท่องเที่ยวของไทยวิ่งตามตลาดโดยขาดในเรื่อง “วิชั่นเซ็นทริก” เช่น เราพูดกันมานานเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราทำโปรดักต์วิ่งตามตลาดตลอด สุดท้ายความเสื่อมโทรมทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ตามมา

ประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือ สึนามิของผู้ประกอบการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยเฉพาะบริษัทนำเที่ยวที่ขณะนี้โดยส่วนตัวจากการมอนิเตอร์ข้อมูลในระบบคาดว่ายังมีบริษัทที่เปิดดำเนินการอยู่ไม่เกิน 20% และส่วนที่ยังเปิดดำเนินการอยู่นั้นส่วนใหญ่เจ้าของทำงานเองเกือบจะครบวงจร ส่วนที่ยังมีการจ้างงานอยู่เหลือน้อยมาก

สำหรับเป้าหมายรายได้ท่องเที่ยวปีนี้กระทรวงการท่องเที่ยวฯได้ตั้งเป้ารวมที่ 8.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นต่างประเทศ 3 แสนล้านบาท จากนักท่องเที่ยว 4 ล้านคน และจากไทยเที่ยวไทย 5.5 แสนล้านบาท ด้วยจำนวนการเดินทางท่องเที่ยว 100-120 ล้านคนครั้ง

ดังนั้น แนวทางสำคัญที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย คือ การเร่งระดมฉีดวัคซีนถ้าวันนี้ไม่เร่งระดมฉีดวัคซีน ความมั่นใจก็จะลดลง การจะเข้าถึงเป้าหมายก็อาจทำได้ยากขึ้น และหากสามารถวางแผนการฉีดวัคซีนได้ตามแผนก็น่าจะทำให้แผนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาส 3 มีความเป็นไปได้สูง

พร้อมย้ำว่า นโยบายการเปิดประเทศสำคัญที่สุดที่ต้องเร่งดำเนินการในห้วงเวลานี้ เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติยังเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในด้านรายได้ของภาคการท่องเที่ยวของไทย

อ่านข่าวต้นฉบับ: เปิดวิจัยผลกระทบ “โควิด” กับทิศทาง “ท่องเที่ยว” ในอนาคต

Credit ข่าวและภาพจาก ฟีดข่าวประชาชาติ : https://www.prachachat.net

Recommend more :

“อัศวิน อิงคะกุล” เปิดใจ คำว่า “มิราเคิล” ปิดไม่ได้ ถอยไม่ได้
คนโสดโปรดรอ! ททท. เตรียมเปิดตัว ‘เส้นทางคนโสด Single Journey
ไม่มีแล้ว! บินวนรูปหัวใจ “การบินไทย” ยกเลิก ตามประกาศ กทม.
เจ้าหนี้การบินไทยลงมติเห็นชอบ “แผนฟื้นฟู” ตั้ง 5 อรหันต์นั่งผู้บริหารแผน
“วีรันดา” ทุ่มพันล.ปักธงภูเก็ต รับบริหารคอลเล็กชันหัวหิน
ชาญศิลป์ ขอบคุณ พนง.การบินไทย “เสียสละลาออก” มี.ค. 64 มีรอบ 2
ททท.ผุดโครงการ WAT ทริป “ศรัทธานำทาง เส้นทางนำเที่ยว” เที่ยวฟรี 10 เส้นทางทั่วไทย
“ไทยแอร์เอเชีย” ตั้งสถาบันเทรนนิ่งบุคลากรในอุตฯการบิน-ท่องเที่ยวและบริการ
“อิตัลไทย” กัดฟันฝ่าพิษโควิด “ธุรกิจโรงแรมไม่มีวันตาย”
โควิดระลอกใหม่ลากยาว สทน.เตรียมชงแผนกระตุ้นเที่ยวในประเทศ
มาตรการเยียวยา-แท็กติก? ของ “สายการบิน” บางสาย
ครัวซองต์การบินไทย ขายหมดใน 1 ชั่วโมง ฮิตตามรอย ปาท่องโก๋

Leave a Reply