สัมภาษณ์ การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่
อ่านข่าวต้นฉบับ: เปิดใจ “ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” “ไทยแอร์เอเชีย” รอดแล้ว !

สัมภาษณ์

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อธุรกิจการบินตลอดเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา ทุกสายการบินต่างปรับแผนธุรกิจเพื่อให้อยู่รอดภายใต้ภาวะวิกฤต ทั้งลดค่าใช้จ่าย ลดจำนวนพนักงาน ขอส่งคืนเครื่องบิน ฯลฯ พร้อมทั้งหา “เงินทุน” เข้ามาเสริมสภาพคล่องและเป็นทุนหมุนเวียน

ล่าสุด “ไทยแอร์เอเชีย” รุกปรับโครงสร้างการเงินครั้งใหญ่ หลังจากที่ได้ “ทุนใหม่” เข้ามาต่อลมหายใจ พร้อมทั้งเตรียมนำ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด (TAA) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แทนบริษัท แอร์เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV รับกลุ่มทุนใหม่ที่พร้อมใส่เงินลงทุนเบื้องต้นถึง 3,150 ล้านบาท ในรูปของสัญญาเงินกู้แปลงสภาพ ซึ่งสามารถแปลงเป็นหุ้นสามัญภายหลังจากที่ไทยแอร์เอเชียทำ IPO เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

“ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอร์เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV และสายการบินไทยแอร์เอเชีย ให้สัมภาษณ์ถึงแผนการปรับโครงสร้างกิจการ โครงสร้างการเงิน รวมถึงทิศทางธุรกิจหลังจากนี้ ไว้ดังนี้

“ทุนใหม่” หนุนสภาพคล่องยืนได้ 3 ปี

“ธรรศพลฐ์” บอกว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา “ไทยแอร์เอเชีย” อยู่ในภาวะที่ดิ้นรนและดูแลตัวเองมาตลอด ประกอบกับมาเจอการระบาดระลอก 2 เมื่อปลายปี 2563 ต่อด้วยระลอก 3 อีกครั้ง ทำให้ต้องพยายามหาทางเสริมสภาพคล่องให้บริษัท และเตรียมความพร้อมเมื่อกลับมาให้บริการหลังโควิดเบาบางลง

โดยขณะนี้ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด มีแผนปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ จากที่บริษัทจะได้รับเงินลงทุนจากนักลงทุนรายใหม่ 3,150 ล้านบาท เข้ามาในช่วงราวปลายเดือนมิถุนายน หรือต้นเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งจะทำให้บริษัทหมดปัญหาเรื่องกระแสเงินสดสำหรับปีนี้ สามารถฝ่าวิกฤตโควิดและอยู่ได้อีกถึง 3 ปีข้างหน้า อีกทั้งยังมีความพร้อมที่จะสร้างการเติบโตในอนาคต

โดยขณะนี้นักลงทุนรายใหม่อยู่ระหว่างทำ due diligence ซึ่งคาดว่าจะเสร็จเรียบร้อยภายในเดือนพฤษภาคมนี้

ส่ง “ไทยแอร์เอเชีย” เข้าตลาดหุ้นแทน AAV

“ธรรศพลฐ์” บอกด้วยว่า แรกเริ่มที่ต้องเอา AAV เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องจากกฎหมายไม่เอื้อให้ “ไทยแอร์เอเชีย” เข้าจดทะเบียนในตลาดได้ แต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา กฎหมายดังกล่าวเพิ่งได้รับการแก้ไข

“การเอาไทยแอร์เอเชียเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯไม่เกี่ยวกับนักลงทุนรายใหม่ เพียงแต่กฎหมายเพิ่งเปิดทางให้ทำได้ พอมีนักลงทุนใหม่เข้ามาเลยถือโอกาสปรับโครงสร้างใหม่ ด้วยการทำแผนเอาบริษัท ไทยแอร์เอเชีย เข้าจดทะเบียนในตลาดแทน AAV เลยทีเดียว เพื่อทำให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น”

เพราะ “ไทยแอร์เอเชีย” เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตต่าง ๆ ในการให้บริการสายการบินโดยตรง นักลงทุนจึงต้องการลงทุนในไทยแอร์เอเชียมากกว่าการลงทุนโดยผ่านการถือหุ้นใน AAV

“AAV ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นโฮลดิ้งคอมปะนี ไม่มีรายการอะไร และถือหุ้นในไทยแอร์เอเชียแค่ 55% แต่หากนำไทยแอร์เอเชียเข้าตลาดจะได้มูลค่าที่ 100% เต็ม ไม่ใช่ 55% ทำให้มีมูลค่าตลาดมากขึ้น”

เดินหน้าขายหุ้นไอพีโออีก 3 พันล้าน

“ธรรศพลฐ์” แจกแจงอีกว่า นอกจากไทยแอร์เอเชียจะมีเงินทุนใหม่เข้ามาราว 3,000 ล้านบาท ในช่วงกลางปีนี้แล้ว ตามแผนยังจะมีเงินที่ได้จากการขายหุ้น IPO อีกราว 3,000 ล้านบาท ในช่วงปลายปี 2564 หรือต้นปี 2565 ซึ่งจะทำให้ “ไทยแอร์เอเชีย” มีเงินทุนใหม่เข้ามาในปีนี้รวม 6,000 ล้านบาท

โดยเงินทุนใหม่ที่เข้ามาทั้งหมด บริษัทจะนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน โดยกำหนดเป้าหมายว่าบริษัทจะต้องไม่ให้ผลขาดทุนเกิน 200 ล้านบาทต่อเดือน นั่นหมายความว่าหากช่วงไหนที่รายได้ลดลง รายจ่ายก็ต้องลดลงด้วย

สำหรับในส่วนของหนี้ “ธรรศพลฐ์” บอกว่า เจ้าหนี้รายใหญ่คือ แอร์เอเชีย อินเวสต์เมนต์ ลิมิเต็ด (แอร์เอเชีย มาเลเซีย) บริษัทได้เจรจาขอแปลงหนี้รวมราว 3,900 ล้านบาทเป็นทุนต่อไป

“ส่วนเรื่องซอฟต์โลนที่เคยขอให้ภาครัฐช่วยเหลือนั้น ส่วนตัวไม่ได้หวังแล้ว ถ้าได้คงได้มานานแล้ว แต่ถ้าได้ก็ยังสนใจเพราะเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ”

เลือกทางที่ดีที่สุด-กระทบทุกฝ่ายน้อยที่สุด

“ธรรศพลฐ์” ยอมรับว่า ที่ผ่านมากลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม (ตัวเขาเอง) ไม่มีเงินเหลือที่จะทำการเพิ่มทุนได้แล้ว ขณะที่การเจรจาขอความช่วยเหลือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ของรัฐบาลก็ยังไม่คืบหน้า อีกทั้งไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากสถาบันการเงิน จึงต้องเลือกแนวทางการหานักลงทุนใหม่เข้ามาช่วยเสริมสภาพคล่อง

“การทำให้บริษัทมีสภาพคล่องก็มีหลายวิธี แต่เราเลือกดูว่าแบบไหนที่จะเป็นภาระกับบริษัทน้อยที่สุด ถ้าใช้วิธีกู้เงินก็ทำให้มีภาระเรื่องดอกเบี้ย จึงคุยกับที่ปรึกษาทางการเงินก็พบว่า ทางออกที่ได้เป็นประโยชน์ทั้งกับผู้ถือหุ้นเดิมของ AAV ผู้ถือหุ้นใหม่ และบริษัทได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และก็เป็นรูปแบบที่มีต้นทุนทางการเงินถูกที่สุด และยั่งยืนด้วย”

ที่สำคัญ เมื่อผู้ถือหุ้นเดิมเอาหุ้น AAV มาแลกหุ้น “ไทยแอร์เอเชีย” ทั้งผู้ถือหุ้นใหม่และผู้ถือหุ้นเดิมจะได้ราคาหุ้นไทยแอร์เอเชียเท่ากัน ไม่มีใครได้เปรียบ หรือเสียเปรียบ

มั่นใจธุรกิจกลับมาแข็งแกร่งหลังโควิด

ต่อคำถามว่า จะใช้เวลากี่ปีในการบริหารให้ธุรกิจกลับมาทำกำไร “ธรรศพลฐ์” บอกว่า ในส่วนผลประกอบการมองว่าขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมมากกว่า โดยสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญคือ การเตรียมความพร้อม เพื่อให้สามารถกลับมาทำธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่งหลังการแพร่ระบาดทุเลาลง เพราะขณะนี้บริษัทมีความพร้อม ทั้งด้านสภาพคล่อง บุคลากร และจำนวนฝูงบิน

“เราเคยมีเครื่องบิน 60 ลำ ก่อนโควิดรอบ 2 เราใช้เครื่องบินราว 30 ลำ ตอนนี้ใช้อยู่ประมาณ 15-20 ลำ ขณะที่ปีนี้มีแผนส่งคืนตามกำหนด 6 ลำ ทำให้สิ้นปีนี้เราจะมีฝูงรวมที่ 54 ลำ”

หากการแพร่ระบาดของโควิดยุติ และสามารถทำการบินเส้นทางบินภายในประเทศได้ คาดว่าเครื่องบินทั้ง 54 ลำ จะกลับมาใช้งานได้ทั้งหมด เพียงแต่จำนวนชั่วโมงการใช้งานอาจจะยังต่ำ แต่ถ้าสามารถเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศได้ในช่วงต้นปีหน้า ก็จะทำให้ปริมาณการใช้เครื่องบินกลับมาทำการบินได้วันละ 12-13 ชั่วโมง เหมือนเดิม

“ธรรศพลฐ์” ย้ำว่า ทันทีที่ทั่วโลกเปิดรับการเดินทางระหว่างประเทศ “ไทยแอร์เอเชีย” จะเร่งสร้างอัตราการเติบโตอย่างเต็มที่ในช่วงระยะ 2-3 ปีแรก โดยเฉพาะเที่ยวบินต่างประเทศ เพราะจะมีสายการบินหลายแห่งที่ยังไม่สามารถกลับมาทำการบินได้ทันที เช่นเดียวกับตลาดในประเทศที่เชื่อว่าจะยังสามารถเติบโตได้อีก หลังจากกลับมาให้บริการได้อย่างเต็มที่อีกครั้ง

“แนวทางทั้งหมดที่เราทำในวันนี้คือ เพื่อให้แน่ใจว่าเรามีความพร้อม และแข็งแกร่ง สามารถกลับมาสร้างการเติบโตได้อีกครั้งทันทีที่ทั่วโลกเปิดให้เดินทางระหว่างประเทศ”

เห็นกำไรเมื่อเปิดเที่ยวบิน ตปท. 100%

สำหรับปีนี้ “ธรรศพลฐ์” บอกว่า โดยภาพรวมแล้วสถานการณ์ของ “ไทยแอร์เอเชีย” ดีขึ้นแน่นอน เพราะได้เงินเข้ามาเสริมสภาพคล่องแล้ว หน้าที่สำคัญตอนนี้คือต้องดูแลต้นทุนให้ดี ใช้เงินที่มีให้น้อยที่สุด ส่วนจะมีรายได้เท่าไหร่ หรือมีจำนวนผู้โดยสารเท่าไหร่ คงต้องประเมินกันใหม่อีกครั้ง

นอกจากนี้ คงต้องประเมินแผนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและแผนการฉีดวัคซีนของรัฐบาลอย่างใกล้ชิดว่าจะเป็นไปตามแผนหรือไม่ เพื่อประเมินว่าธุรกิจจะสามารถเปิดเที่ยวบินระหว่างประเทศได้เมื่อไหร่

“สำหรับปีหน้าถ้าเราบริหารได้แค่คุ้มทุนก็เก่งแล้ว เพราะประเมินว่าเที่ยวบินต่างประเทศยังคงไม่กลับมาได้ 100% ธุรกิจจะเริ่มกลับมามีกำไรอีกครั้งได้ก็ต่อเมื่อสามารถกลับมาเปิดเที่ยวบินต่างประเทศได้ครบ 100%”

พร้อมย้ำในตอนท้ายว่า ตลอดช่วงวิกฤตที่ผ่านมา บริษัทก็ไม่ได้แย่ มีแผนและเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา ขณะที่นักลงทุนก็คือนักลงทุน มีเงินสด เมื่อเห็นโอกาสการลงทุนที่เหมาะสมและสามารถทำกำไรได้ เขาก็พร้อมลงทุน ถ้าเป็นตัวเอง หากมีเงินสดและมีดีลแบบนี้เข้ามาก็พร้อมลงทุนเช่นกัน

อ่านข่าวต้นฉบับ: เปิดใจ “ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” “ไทยแอร์เอเชีย” รอดแล้ว !

Credit ข่าวและภาพจาก ฟีดข่าวประชาชาติ : https://www.prachachat.net

Recommend more :

เที่ยวไทย’63 สะดุด “โควิด” นักท่องเที่ยวต่างชาติหาย-รายได้เป็นศูนย์
ดีเดย์ 1 มี.ค. เปิดน่านฟ้าให้เครื่องบินต่างชาติจอดพัก-ต่อเครื่องในไทยได้ 
ธปท.คาดโควิดรอบใหม่ ฉุดยอดจองห้องพัก เดือนพฤษภาคม เหลือ 9%
อดีตนายกแอตต้ารวมพลังหนุน “ศิษฏิวัชร ชีวรัตนพร” ขึ้นนั่งนายกฯ คนใหม่
“ไทยเที่ยวไทย” ชะงัก สทท.จ่อทำแผนรอฟื้นฟู
“ภูเก็ต” โหมปลุกท่องเที่ยว คาดเริ่มฟื้นตัวเมษายนนี้
“บุ๊กกิ้งดอทคอม” ชี้ธุรกิจร่วง ไร้สัญญาณบวก หวังปี’64 ฟื้น
สัญญาณบวกเลิกกักตัวโควิด รัฐถกใหญ่ 16 มี.ค.บูมท่องเที่ยว
ศรีพันวา เปิดรับ 70 นักท่องเที่ยวต่างชาติ ใช้ระบบกักตัวรูปแบบใหม่
ไทยเวียตเจ็ท อัดโปรฯบินคุ้มรับหน้าหนาวซื้อ 699 แลกส่วนลดได้ 1 พัน
โควิดระลอกใหม่ลากยาว สทน.เตรียมชงแผนกระตุ้นเที่ยวในประเทศ
AOT ปรับลดประมาณการปริมาณ “ผู้โดยสาร-เที่ยวบิน” ประเมินใช้เวลา 2 ปีฟื้น

Leave a Reply