สัมภาษณ์พิเศษ ผ่านการโหวตรับแผนฟื้นฟูกิจการจากเจ้าหนี้ไ
อ่านข่าวต้นฉบับ: คิกออฟฟื้นฟู การบินไทย จับตาปัจจัยเสี่ยง โควิด-ราคาน้ำมัน-การเมือง

สัมภาษณ์พิเศษ

ผ่านการโหวตรับแผนฟื้นฟูกิจการจากเจ้าหนี้ไปเรียบร้อยเมื่อ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา สำหรับ บมจ.การบินไทย ด้วยคะแนนโหวตถึง 91.56% โดยหลัก ๆ แล้วเป็นแผนฟื้นฟูฉบับของผู้ทำแผน (การบินไทย) และแผนที่เจ้าหนี้โดยธนาคารกรุงเทพ และชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย (ชสอ.) เสนอแก้ไข

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ชาญศิลป์ ตรีนุชกร” รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (DD) บมจ.การบินไทย และหนึ่งในคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูถึงแนวทางการดำเนินงานหลังจากนี้ ทั้งแผนการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ การเตรียมพร้อมด้านการเงิน รวมถึงแผนงานสำหรับการกลับมาทำการบินเชิงพาณิชย์อีกครั้งไว้ดังนี้

Q : กระบวนการทำแผนฟื้นฟูนี้เสร็จได้ตามไทม์ไลน์ที่คาดการณ์ไว้หรือไม่

ครับ ถือว่าทุกอย่างจบได้ตามไทม์ไลน์ที่เราวางไว้ ทีแรกก็ไม่ได้คาดการณ์ด้วยซ้ำว่าการพิจารณาวันเดียวจะเสร็จ คิดไว้ว่าอาจจะยืดเยื้อกว่านี้

Q : ขั้นตอนการดำเนินงานหลังจากนี้เป็นอย่างไร

ทุกอย่างกำลังเริ่มต้น ขั้นตอนหลังจากนี้ต้องรอศาลไต่สวนเพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูอีกครั้งในวันที่ 28 พฤษภาคมนี้ จากนั้นบริษัทสามารถเดินหน้าปรับโครงสร้างเงินทุนได้เลย

แต่ในระหว่างนี้งานส่วนไหนที่ทำล่วงหน้าได้ก็เดินหน้าได้เลย เช่น แผนการลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ ซึ่งเป็นแผนที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในช่วงทำแผนฟื้นฟูแล้ว

Q : งานส่วนไหนบ้างที่ได้ดำเนินการล่วงหน้าไปแล้ว

ที่ผ่านมาได้ดำเนินการเรื่องการลดต้นทุนไปแล้ว โดยหลังจากที่เข้าสู่โครงสร้างใหม่เมื่อ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมาเราสามารถลดต้นทุนด้านบุคลากรลงได้ครึ่งหนึ่ง จากเมื่อปี 2563 เรามีต้นทุนบุคลากรราว 30,000 ล้านบาทต่อปี จากจำนวนบุคลากรทั้งหมดประมาณ 29,000 คน หลังจากเข้าสู่โครงสร้างใหม่ คาดว่าต้นทุนด้านบุคลากรจะเหลือราว 15,000-16,000 ล้านบาทต่อปี จากบุคลากร 15,000-16,000 คน

เช่นเดียวกับเรื่องของค่าใช้จ่ายด้านเครื่องบิน หลังจากที่ได้เริ่มเจรจากับคู่สัญญาไปแล้วประมาณ 50 สัญญา เราสามารถลดต้นทุนที่เกี่ยวกับเครื่องบินทั้งหมดตลอดอายุสัญญาได้แล้วประมาณ 60,000 ล้านบาท (ตั้งแต่ 5-15 ปี)

ในส่วนของเครื่องบิน จากเดิมเรามีเครื่องบิน 12 แบบ 9 ประเภทเครื่องยนต์ และนักบินประจำฝูงบิน 5 กลุ่ม ตอนนี้เราปรับลดเหลือเครื่องบิน 4 แบบ 3 ประเภทเครื่องยนต์ และนักบินประจำฝูงบิน 2 กลุ่ม เครื่องบินเก่าบางส่วนเราก็จะทำการขายออกไป

นี่คือ 2 เรื่องหลักที่เราทำไปแล้ว และทั้ง 2 ส่วนนี้ถือเป็นต้นทุนหลักที่จะทำให้การบินไทยสามารถแข่งขันกับสายการบินอื่นได้

Q : ในส่วนของแผนการเพิ่มรายได้วางไว้อย่างไร

ในช่วงก่อนโควิด-19 (มีนาคม 2563) การบินไทยทำการบินประมาณ 6,000 เที่ยวบินต่อเดือน พอเจอโควิดช่วงประมาณเมษายน 2563 เราทำการบิน ได้แค่ 174 เที่ยวต่อเดือน แต่เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา เรากลับมาบินได้ประมาณ 400-500 เที่ยวต่อเดือน โดยเน้นให้บริการเที่ยวบินที่เป็น semi-commercial คือ เที่ยวบินขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร

ปัจจุบันการบินไทยมีเที่ยวบินให้บริการแล้วบางส่วน ส่วนใหญ่ยังเป็นเที่ยวบิน semi-commercial และเที่ยวบินชาร์เตอร์ไฟลต์ อาทิ เส้นทางแฟรงก์เฟิร์ต, โคเปนเฮเกน, ปารีส, โตเกียว, โอซากา ฯลฯ แต่ยังมีปริมาณไม่มากนัก เนื่องจากโควิดระลอก 3 คาดว่าจะทยอยเพิ่มอีกในช่วงไตรมาส 3 นี้ ที่ประเทศไทยมีนโยบายเปิดรับต่างชาติภายใต้โมเดล “ภูเก็ต แซนด์บอกซ์” วันที่ 1 กรกฎาคมนี้

ตามแผนเราคาดว่าเราจะเริ่มกลับมาบินได้ชัดเจนขึ้นในช่วงไตรมาส 4 และมีเที่ยวบินที่ให้บริการในรูปแบบเที่ยวบินประจำ (schedule flight) ที่จะเริ่มจากให้บริการทุกสัปดาห์ หรือสัปดาห์ละ 2 เที่ยวบินก่อน จากนั้นจึงทยอยเพิ่มตามดีมานด์

ส่วนเส้นทางภายในประเทศยังคงให้ “ไทยสมายล์” ทำการบินต่อไปขณะเดียวกันก็ต้องพยายามหารายได้ที่นอกเหนือจากธุรกิจการบิน เช่น แคเทอริ่ง, คาร์โก้, ซ่อมบำรุง ฯลฯ รวมถึงรายได้ใหม่ที่มาจากฝ่ายขับเคลื่อนองค์กร (Chief of Transformation Office) ที่แสวงหาโอกาสใหม่ในการพัฒนาธุรกิจ

Q : ช่วงปี 2 ปีแรกนี้มีความต้องการใช้เครื่องบินกี่ลำ

ในอดีตก่อนโควิดการบินไทยมีเครื่องบิน 103 ลำ ช่วงเริ่มต้นนี้เราจะใช้เครื่องบินราว 50-60 ลำ จากนั้นปี 2568-2569 คาดว่าการบินไทยจะใช้เครื่องบินประมาณ 70-80 ลำ

ส่วนเครื่องบินที่ไม่ใช้งานนั้นบางส่วนเราได้ดำเนินการเจรจาขอคืน ซึ่งมีจำนวนประมาณ 10 กว่าลำ บางส่วนก็เจรจาว่าถ้ายังไม่ได้ใช้ก็หยุดจ่ายค่าเช่าไปก่อนและในอนาคตหากต้องใช้งาน เราจะได้ในราคาต้นทุนที่ต่ำลง โดยมีเงื่อนไขว่าเราจะจ่ายค่าเช่าเครื่องบินตามชั่วโมงการใช้งานจริง

สำหรับเครื่องบินที่ประกาศขายไปนั้นส่วนใหญ่เป็นเครื่องที่ไม่ได้ใช้งานนานแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาเราได้เซอร์เวย์ตลาดไปแล้ว คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปในอีกประมาณ 1-2 เดือนข้างหน้านี้

Q : ในเรื่องของเงินทุนใหม่ที่จะเข้ามาวางแผนไว้อย่างไร

หลังจากแผนผ่านเสร็จ คณะผู้บริหารแผนจะต้องเดินตามแผนว่าใครจะเข้ามาใครจะแปลงหนี้เป็นทุน ใครจะลดทุน ฯลฯ ซึ่งเรากำหนดราคาหุ้นไว้แล้วและเงินใหม่นั้นก็มาได้หลายแบบ เช่น จากหนี้ที่ลดลงจากการแปลงหนี้เป็นทุน หรืออาจเป็นเงินกู้ หรือเป็นการเพิ่มทุน ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้บริหารแผนและคณะกรรมการเจ้าหนี้ที่ต้องพิจารณาอนุมัติ และมีคณะกรรมการกำกับดูแลสินเชื่อใหม่มาช่วย

โดยคณะกรรมการเจ้าหนี้นั้นเราได้มาแล้ว 7 คน ซึ่งเป็นตัวแทนของเจ้าหนี้กลุ่มต่าง ๆ ได้แก่ จากแบงก์กรุงเทพ ชุมนุมสหกรณ์ สหกรณ์ธรรมศาสตร์ สหกรณ์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ แบงก์ออมสิน ไทยสมุทรประกันชีวิต และจากกระทรวงการคลัง ส่วนคณะกรรมการกำกับดูแลสินเชื่อใหม่ เรายังไม่ได้เลือก ซึ่งจะเข้ามาหลังจากที่มีสินเชื่อใหม่เข้ามา

Q : เดิมตั้งเป้าได้เงินก้อนแรกเข้ามา 50,000 ล้านบาท

จำนวนเงิน 50,000 ล้านบาทนี้ คือก้อนหนึ่งของกรอบวงเงิน จะใช้ภายใน 1-3 ปี แต่เวลาเข้ามาอาจจะเข้ามาครั้งละ 5,000 ล้านบาท 10,000 ล้านบาท หรืออื่น ๆ แล้วแต่ว่าจะเข้ามาอย่างไร แต่ก้อนแรกนี้ต้องมีมูลค่ามากหน่อย เพราะเราจำเป็นต้องใช้เงินมาดูแลซ่อมบำรุงเครื่องบินให้กลับมาบินได้ แต่ถ้าเรากลับมาทำการบินได้เราก็ทำรายได้เลย

Q : เงินก้อนแรกที่จะเข้ามานั้นโอกาสน่าจะเป็นลักษณะไหน

เร็วที่สุดน่าจะเป็นรูปแบบเงินกู้ เพราะการเพิ่มทุนต้องใช้เวลา

Q : ความจำเป็นที่เงินก้อนแรกต้องเข้ามาควรเป็นช่วงไหน และเท่าไหร่ถึงพอสำหรับรีสตาร์ตธุรกิจใหม่

น่าจะอีกสัก 3-4 เดือนข้างหน้า หรือประมาณสิงหาคม-กันยายนนี้ และอย่างน้อยน่าจะมีมูลค่าประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาท เพราะเรามีต้นทุนการดำเนินงานราว 1,000 ล้านบาทต่อเดือน

แต่อย่างที่บอกว่าในช่วงกลับมาเริ่มธุรกิจใหม่อีกครั้งจำเป็นต้องใช้เงินมากหน่อย เพื่อนำมาใช้สำหรับดูแลเครื่องบินให้กลับมาบินได้ รวมถึงค่าน้ำมัน และชำระหนี้บางส่วน

Q : การขายสินทรัพย์ยังอยู่ในแผนการหาเงินด้วยหรือไม่

มีอยู่ครับ แต่ต้องขอศาลพิจารณาก่อน คือเราต้องพึ่งตัวเองก่อน ที่ผ่านมาเราได้ขอศาลทยอยขายบางส่วนไปแล้ว เช่น ขายหุ้นในบริษัท BAFS ขายที่ดินและอาคารลูกเรือหลักสี่ และรอขายเครื่องยนต์อีกจำนวนหนึ่ง

นอกจากนี้ยังเตรียมขอศาลขายสินทรัพย์ที่เป็นอาคาร ที่ดินในต่างประเทศบางส่วนต่อไป

Q : ตามแผนฟื้นฟูคาดการณ์รายได้ปีนี้ไว้ 20,000 ล้านบาทนั้นยังเชื่อว่าทำได้ไหม

ปกติการบินไทยมีรายได้รวมปีละประมาณ 200,000 ล้านบาท ในแผนฟื้นฟูปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 20,000 ล้านบาท ก็น่าจะมีความเป็นไปได้ เพราะเราพยายามไปเพิ่มรายได้ในส่วนคาร์โก้ แคเทอริ่ง ซ่อมบำรุง ฯลฯ

เรียกว่าเราต้องไม่หยุดนิ่งในการหารายได้อื่น ๆ เข้ามาเสริมรายได้จากธุรกิจการบิน และอีกทางหนึ่งคือต้องพยายามช่วยกันลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงให้หมด เพื่อต่อลมหายใจเฮือกสุดท้ายของการบินไทย

Q : ประเมินว่าการบินไทยจะเริ่มมีกำไรได้อีกครั้งในช่วงปีไหน

ตามแผนฟื้นฟู ปี 2564 และ 2565 นี้ การบินไทยยังคงขาดทุนอยู่ แต่คาดการณ์ไว้ว่าประมาณปี 2566-2567 หรือประมาณ 3-5 ปีข้างหน้า ความสามารถในการทำกำไรจากการดำเนินงาน หรือ EBITDA เราน่าจะดีขึ้น โดยตั้งเป้าว่าปี 2566-2567 เราจะเดินไปถึงจุดคุ้มทุนและไม่ขาดทุนแล้ว และผลประกอบการรวมจะเริ่มมีกำไรชัดเจนขึ้นตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป

Q : ในแผนเราคาดการณ์ผลประกอบการไว้ยาวถึง 15 ปี

ใช่ครับ เพราะว่าเราทำแผนด้วย airline expert และมีผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ระดับโลกมาช่วย และตอนทำเราก็ไม่ได้คิดว่าการบินไทยโฉมใหม่จะไม่เหมือนการบินไทยเดิม เพราะเราได้สร้างโครงสร้าง ทำระบบต่าง ๆ ใหม่หมดในหลาย ๆ ส่วน เช่น การรวมศูนย์จัดซื้อ ตั้งหน่วยกลยุทธ์องค์กร มีฝ่าย Chief Transformation เพื่อดูตัวเลขสุดท้ายและเพิ่มแวลูต่าง ๆ สร้างรายได้ลดรายจ่าย ให้องค์กร

ที่สำคัญ เราทำและคิดกันมาตั้ง 6-7 เดือน เหนื่อยกันทุกวัน ผมเองบอกเลยว่าทำงานเหนื่อยกว่าตอนเป็นผู้บริหาร ปตท. เพราะว่าธุรกิจสายการบินเป็นธุรกิจที่ไม่ใช่เวทีที่ผมคุ้นเคยมาก่อน และยังคนละกระทรวงกัน แต่ถึงวันนี้ผมรู้ทุกอย่าง รู้จักองค์กร ที่สำคัญได้เจอเพชรเจียระไนหลายคน ซึ่งคนพวกนี้แหละจะแคริ่งการบินไทยต่อไป

Q : แผนฟื้นฟูที่ส่งไปคิดเผื่อโควิดระลอก 3 แล้วหรือยัง

จริง ๆ ในแผนที่นำเสนอไปนั้น เรากันเสี่ยงโควิดระลอก 2 เท่านั้น ไม่ได้กันเสี่ยงระลอก 3 และเราก็คาดว่าเราควรจะเริ่มสตาร์ตได้เดือนกรกฎาคม แต่ตอนนี้เราต้องขยับแผนเป็นเริ่มสตาร์ตธุรกิจเดือนตุลาคม หรือประมาณไตรมาส 4 ซึ่งก็คงต้องว่าไปตามสถานการณ์ก่อน แต่การสตาร์ตช้าก็ทำให้เรามีเวลาตั้งหลักได้ดีกว่าเดิม

ถ้าสถานการณ์เริ่มได้ 1 มิถุนายน การบินไทยจะแย่กว่านี้ ลองคิดดูว่าถ้าคนอื่นบินได้ แต่การบินไทยยังบินไม่ได้ เราก็จะเสียโอกาส เพราะประเทศอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น เยอรมนี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี รัฐบาลเขาสนับสนุนทั้งนั้น

Q : มองว่าด้วยสถานการณ์ขณะนี้มีอะไรเป็นปัจจัยลบที่มีนัยสำคัญต่อการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูบ้าง

ประเด็นที่เป็นห่วงในเวลานี้มี 3 เรื่องหลัก คือ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ราคาน้ำมัน และการเมือง

โดยประเด็นที่เป็นตัวแปรหลัก คือ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด เพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อดีมานด์ความต้องการเดินทางโดยตรง และยังเป็นอะไรที่ยังคงยืดเยื้อและคาดการณ์ไม่ได้ แต่ก็น่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น เพียงแต่ต้องใช้เวลาหน่อย เนื่องจากทั่วโลกได้ฉีดวัคซีนในจำนวนที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ส่วนราคาน้ำมันน่าจะมีผลกระทบประมาณ 10-20% สำหรับการเมืองหากกระทบก็ไม่น่าจะเกิน 10-20%

ทั้ง 3 ปัจจัยนี้จะมีผลทำให้กำไร หรือ net profit เราแกร่ง บวก-ลบไปบ้าง แต่สำคัญที่สุด คือเราต้องลดต้นทุน เอาไขมันออก ทำตัวเองให้แข็งแรงที่สุด รวมหัวใจ รวมจิตใจสู้ ทุกคนในองค์กรต้องร่วมแรงร่วมใจ ต้องรักกัน ทำเพื่อองค์กร

ที่สำคัญ ต้องคิดว่า องค์กรอยู่รอด เราก็อยู่รอด เพราะนี่คือโอกาสสุดท้ายของ “การบินไทย”

อ่านข่าวต้นฉบับ: คิกออฟฟื้นฟู การบินไทย จับตาปัจจัยเสี่ยง โควิด-ราคาน้ำมัน-การเมือง

Credit ข่าวและภาพจาก ฟีดข่าวประชาชาติ : https://www.prachachat.net

Recommend more :

แอร์เอเชีย แจก “แอร์บังเบ้า” ผ้าปิดตาเรียกรอยยิ้มชาวเน็ต
ดุสิตฯ ชี้ ’64 ปีแห่งการปรับเอาตัวรอด หลัง ’63 ยากลำบากที่สุดของอุตฯโรงแรมไทย
“การบินไทย” ส่ง CFO-ผู้ตรวจบัญชี ขึ้นศาลล้มละลายไต่สวนการงิน
วิธีโหลดแอป “เป๋าตัง” สำหรับใช้จ่ายโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน”
13 เม.ย. ห้ามสายการบิน เสิร์ฟอาหาร-เครื่องดื่ม ให้ใส่แมสก์ตลอดเวลา
ไทม์ไลน์เปิดรับ “ต่างชาติ” คนท่องเที่ยวลุ้นเลิกมาตรการกักตัว
“เดสทิเนชั่น สยาม” ทุ่มปั้นเทศกาล “ดิวาลี” จุดกระแสตลาดอินเดีย
“การบินไทย” ประกาศเลิกจ้างพนักงาน 508 คน กลุ่มไม่สมัครเข้าโครงสร้างใหม่
บางกอกแอร์เวย์ ขาดทุนเฉียด 5 พันล้าน ช่วง 9 เดือนแรกปีนี้
“ทีเส็บ” MOU ภาคีเครือข่าย “เปิดเมืองปลอดภัย” 10 เมืองไมซ์
อพท.ยกระดับ 14 ชุมชน 3 จังหวัดชายแดนใต้กระตุ้นเศรษฐกิจ
กรุงไทย คาดโควิดระลอกใหม่ทุบท่องเที่ยวในประเทศสูญกว่า 1.1 แสนล้าน

Leave a Reply