“ชาญศิลป์” มั่นใจที่ประชุมเจ้าหนี้บินไทย 19 พ.ค.นี้ โหว
อ่านข่าวต้นฉบับ: “ชาญศิลป์” เคลียร์เจ้าหนี้ลงตัว สหกรณ์หนุนแผนฟื้นฟูการบินไทย

“ชาญศิลป์” มั่นใจที่ประชุมเจ้าหนี้บินไทย 19 พ.ค.นี้ โหวตผ่านแผนฟื้นฟูฯฉบับลูกหนี้ ยันเป็นแผนที่ผ่านการกรองจากทั้งที่ปรึกษาธุรกิจการบิน-การเงิน-กฎหมาย ยันไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัว ประกาศพร้อมทำหน้าที่ “ผู้บริหารแผน” ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ฯแถลงการณ์ให้ความสำคัญกับแผนแก้ไขของลูกหนี้ และเจ้าหนี้แบงก์กรุงเทพ พร้อมขอแก้ไขแผนอีก 3 ประเด็นใหญ่

มั่นใจเคลียร์เจ้าหนี้ทุกกลุ่ม

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (DD) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย วันที่ 19 พฤษภาคมนี้ หากกระบวนการพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการเป็นไปตามขั้นตอน และไม่มีเสียงเจ้าหนี้เลื่อนการโหวตอีกครั้ง จะมีวาระหลัก 3 เรื่องหลัก คือ 1.เห็นชอบกับแผนที่แก้ไขใหม่ 2.เห็นชอบด้วยแผนของผู้ทำแผนใหม่ และ 3.โหวตกรรมการเจ้าหนี้ (จำนวน 3-7 คน)

โดยในส่วนของผู้ทำแผนมีความมั่นใจว่า แผนฟื้นฟูกิจการฉบับของลูกหนี้จะผ่านการพิจารณาเห็นชอบ เนื่องจากเป็นแผนที่ผ่านการพิจารณามาอย่างรอบคอบแล้ว และมีทั้งที่ปรึกษาที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจสายการบิน ที่ปรึกษาด้านการเงิน ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ฯลฯ ที่สำคัญเป็นแผนที่ผ่านการเจรจากับบรรดาเจ้าหนี้แทบทุกกลุ่มและนับครั้งไม่ถ้วน

“ตอนนี้มีแผนของลูกหนี้ซึ่งผู้ทำแผนได้เสนอไป และแผนของเจ้าหนี้ที่เสนอเข้ามาอีก 14 แผน ซึ่งในส่วนของแผนที่เจ้าหนี้แต่ละรายนำเสนอเข้ามานั้น ส่วนตัวมั่นใจว่าคงโหวตผ่านไม่กี่ประเด็น เนื่องจากแต่ละรายก็ปรับและขอสิทธิประโยชน์ของตัวเองเข้ามาเป็นหลัก ไม่ได้ปรับสาระหลักของแผนฟื้นฟูกิจการ อาทิ ขออัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น หรือขอมีเงินค้ำประกัน ฯลฯ ตอนนี้บริษัทจะไม่มีเงินอยู่แล้ว อะไรที่เรียกร้องสำหรับตัวเองแล้วกระทบกับเจ้าหนี้คนอื่น ๆ ก็คงไม่ได้” นายชาญศิลป์กล่าว

สำหรับประเด็นแก้ไขที่มีเหตุมีผลในการเรียกร้อง เช่น ขอแปลงหนี้สินเป็นทุน หรือขอแปลงดอกเบี้ยเป็นทุน ฯลฯ ลักษณะนี้อาจมีความเป็นไปได้ที่จะได้รับการโหวตให้ผ่าน เนื่องจากเป็นประโยชน์ต่อองค์กรโดยรวม เพราะการแปลงหนี้หรือแปลงดอกเบี้ยเป็นทุนนั้นทำให้ตัวเลขหนี้สินลดลง หรือการขอเพิ่มกรรมการ เพิ่มผู้บริหารแผน ด้วยการเสนอชื่อเพิ่มเข้ามาก็สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม การพิจารณาก็ต้องขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้ทั้งสิ้น

นายชาญศิลป์กล่าวด้วยว่า การบินไทยมีเจ้าหนี้มากถึงกว่า 13,000 ราย เจ้าหนี้แต่ละรายแต่ละกลุ่มก็มีความต้องการที่แตกต่างกัน บริษัทขายเครื่องบินก็ต้องการแบบหนึ่ง บริษัทขายเครื่องยนต์เครื่องบินก็ต้องการอีกแบบหนึ่ง บริษัทขายน้ำมันต้องการอีกแบบหนึ่ง หรือบริษัทขายวัตถุดิบอาหารก็มีความต้องการอีกแบบหนึ่ง เป็นต้น

ดังนั้น บางประเด็น บางมุมต้องยอมรับว่า ทีมผู้ทำแผนก็ไม่สามารถเข้าถึงเจ้าหนี้ได้ทั้งหมด ดังนั้นเวลาทำแผนต้องจัดลำดับความสำคัญ กระบวนการทั้งหมดจึงต้องใช้เวลา ซึ่งการขอเลื่อนโหวตแผนเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา ก็ถือเป็นการเก็บตกเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทุกแผนยังสามารถปรับแก้ไขได้ตามกระบวนการทางกฎหมาย

“ชาญศิลป์” พร้อมทำหน้าที่

“กรณีที่กลุ่มสหกรณ์หุ้นกู้ที่ขอเลื่อนการโหวตแผนฟื้นฟู เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อขอพิจารณาแผนนั้น ถือเป็นสิทธิของชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ซึ่งล่าสุดได้ทำการปรับแผนบางส่วนไปแล้ว พร้อมเสนอให้ผมเป็นผู้บริหารแผน”

นายชาญศิลป์กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับกลุ่มชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ฯนั้น ตลอดเวลาที่ผ่านมาพยายามทาบทามตนเป็นหนึ่งในทีมผู้บริหารแผนฟื้นฟูไว้นานแล้ว แต่ส่วนตัวได้ปฏิเสธไป ทั้งนี้ พวกเขาคงเห็นว่าตนน่าจะช่วยอะไรได้บ้าง เพราะอยู่ในทีมผู้ทำแผนมาตั้งแต่ต้น และก็ทำเรื่องการลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ

รวมถึงการปรับโครงสร้างให้กระชับและเหมาะสมกับทิศทางธุรกิจข้างหน้า และที่สำคัญ ตนก็เป็นตัวหลักในการทำแผนธุรกิจด้วย ล่าสุดเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มาคุยกันอีกครั้ง สุดท้ายตนได้ตอบรับเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูไปแล้ว

“ในช่วงที่ผ่านมากระแสข่าวของการบินไทยออกมาเป็นจำนวนมาก มีทั้งข่าวจริง และข่าวไม่จริง ซึ่งมีเหตุผลมาจากใครเสียประโยชน์ ใครได้ประโยชน์ แต่สำหรับตัวผมเองนั้นเข้ามาช่วยงาน ไม่มีผลประโยชน์ใด ๆ เลย พร้อมที่จะอยู่ พร้อมที่จะช่วย และพร้อมที่จะไป ถ้าอยากให้ผมช่วย ผมก็จะช่วย ถ้าไม่อยากให้ช่วย ผมก็พร้อมที่จะไป” นายชาญศิลป์กล่าว

ประเด็นข้อเรียกร้อง

ขณะที่คณะกรรมการติดตามการแก้ไขปัญหาหุ้นกู้ บมจ.การบินไทย ของชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด (ชสอ.) เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมาระบุว่า คณะกรรมการให้ความสำคัญต่อแผนที่แก้ไขของผู้ทำแผนและเจ้าหนี้ทุกราย และเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าการดำเนินการแก้ไขแผนอีกครั้งจะเป็นประโยชน์ต่อสหกรณ์สมาชิก

ในฐานะเจ้าหนี้ของการบินไทยจึงได้ดำเนินการแก้ไขแผน 3 เรื่องหลัก ๆ ได้แก่ 1.เจ้าหนี้หุ้นกู้ทุกกลุ่มสามารถเลือกวิธีการรับชำระดอกเบี้ยปีที่ 1 ถึงปีที่ 3 ใหม่ ในการแปลงหนี้เป็นทุนในราคาหุ้นละ 2.5452 บาท โดยการแสดงเจตนาเป็นตัวหนังสือต่อผู้ทำแผนได้ในปี 2571 เป็นต้นไป จนกว่าจะครบกำหนดไถ่ถอนใหม่ในแต่ละรุ่น

นอกจากนี้ เจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 กลุ่มที่ 5 และกลุ่มที่ 6 ก็สามารถเลือกวิธีการชำระดอกเบี้ยปีที่ 1 ถึงปีที่ 3 ใหม่ เป็นการแปลงหนี้เป็นทุนในราคาข้างต้นเช่นเดียวกัน

2.การจัดการและการหาประโยชน์จากสินทรัพย์ ในการปรับโครงสร้างทางธุรกิจได้กำหนดให้ผู้บริหารแผนศึกษาความเหมาะสม ความคุ้มค่า ความจำเป็น และความเป็นไปได้ในการแยกหน่วยธุรกิจ โดยเพิ่มเติมให้ศึกษาการบริการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศ และกำหนดให้รายงานผลการศึกษาต่อคณะกรรมการเจ้าหนี้ และคณะกรรมการกำกับดูแลสินเชื่อใหม่ภายใน 1 ปี

และ 3.การแต่งตั้งผู้บริหารแผนนั้น คณะกรรมการติดตามฯและ ชสอ.ได้เสนอ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์, นายพรชัย ฐีระเวช และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นผู้บริหารแผน อย่างไรก็ตาม เพื่อความรัดกุม รอบคอบ ก็ได้กำหนดให้การใช้อำนาจของผู้บริหารแผนต้องเป็นการใช้อำนาจผ่านที่ประชุมคณะผู้บริหารแผน และผู้บริหารแผนที่เป็นกรรมการจะมีคะแนนเสียงในที่ประชุม 1 คะแนนต่อ 1 คน

รวมถึงกำหนดหน้าที่ให้ผู้บริหารแผนเพิ่มเติม โดยต้องจัดให้คณะกรรมการเจ้าหนี้เข้าถึงข้อมูลและเนื้อหาในสัญญาเช่า/เช่าซื้อเครื่องบิน สัญญาซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ที่มีผลผูกพันการบินไทย และยังมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องบิน/เครื่องยนต์ในฝูงบินตามที่คณะกรรมการเจ้าหนี้ และ/หรือ คณะกรรมการกำกับดูแลสินเชื่อใหม่ร้องขอ และกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการเจ้าหนี้เพิ่มเติม โดยให้ผู้บริหารแผนมีหน้าที่ชี้แจงการดำเนินการ ความคืบหน้า ตลอดจนผลการดำเนินการขายสินทรัพย์รองตามที่กำหนดไว้ในแผน และให้ผู้บริหารแผนพิจารณาจัดจ้างที่ปรึกษาด้านต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการเจ้าหนี้ไว้อีกด้วย

สหกรณ์หนุนแผนลูกหนี้-BBL

พร้อมระบุว่า การประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 จะเป็นวันที่กำหนดทิศทางของการบินไทยว่าจะเข้าสู่ภาวะล้มละลาย หรือได้รับมติของเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ให้ฟื้นฟูกิจการและดำเนินการตามแผน ดังนั้น การลงมติในที่ประชุมเจ้าหนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง ลำพังแผนฟื้นฟูฉบับลงวันที่ 2 มีนาคม 2564 ไม่น่าจะเพียงพอต่อการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย

สหกรณ์สมาชิกจึงอาจต้องพิจารณาแผนฉบับที่แก้ไขของผู้ทำแผนฉบับลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 (แผนที่แก้ไขฉบับที่ 4) และแผนที่แก้ไขของ ชสอ. (แผนที่แก้ไขฉบับ 15) มีเนื้อหาที่เป็นสำคัญในการกำหนดแนวทางการดำเนินการ ตลอดจนหน้าที่ของผู้บริหารแผนที่ต้องดำเนินการให้แผนฟื้นฟูกิจการสำเร็จลุล่วง รวมถึงแผนของธนาคารกรุงเทพที่เสนอแก้ไขแผน (แผนที่แก้ไขฉบับที่ 13) โดยเสนอผู้บริหารแผน 2 คน ที่มีประสบการณ์ด้านบริหารงานและด้านกฎหมายฟื้นฟูกิจการ

ทั้งนี้ การลงมติว่าควรจะแก้แผนหรือไม่ สหกรณ์สมาชิกอาจจะพิจารณาแผนที่แก้ไขพร้อมกันทั้ง 3 ฉบับ และหลังจากนั้น การลงมติเห็นชอบด้วยกับแผนฟื้นฟูกิจการและแผนที่แก้ไขก็ให้ลงมติเห็นชอบไปด้วยกันทั้งหมด การลงมติเช่นว่านี้ คณะกรรมการติดตามฯและ ชสอ.เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย และสหกรณ์สมาชิกทุกราย

และเมื่อการบินไทยยังสามารถให้บริการได้ต่อไปก็น่าจะเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยที่ยังมีการบินไทยเป็นสายการบินแห่งชาติอีกด้วย

อ่านข่าวต้นฉบับ: “ชาญศิลป์” เคลียร์เจ้าหนี้ลงตัว สหกรณ์หนุนแผนฟื้นฟูการบินไทย

Credit ข่าวและภาพจาก ฟีดข่าวประชาชาติ : https://www.prachachat.net

Recommend more :

“เราเที่ยวด้วยกัน” เพิ่มสิทธิ์ห้องพักเป็น 15 คืน-ลดค่าตั๋วบิน 7 จังหวัด
ไทยแอร์เอเชีย ย้ำคุมเข้มโควิด-19 ตั้งเป้าที่นั่งในประเทศกลับมา 100%
ไทยเวียตเจ็ทอัดโปรฯ ตั๋วราคาเริ่มต้น 5 บาท ทุกเส้นทางบินในประเทศ
“นกแอร์” พร้อมฟื้นฟู! เร่งลดต้นทุน-หารายได้
เจ้าหนี้การบินไทยลงมติเห็นชอบ “แผนฟื้นฟู” ตั้ง 5 อรหันต์นั่งผู้บริหารแผน
ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศ คลังขยายเวลา ลดภาษีน้ำมันเครื่องบิน
เช็กที่นี่!! มาตรการจัดประชุม แสดงสินค้า อีเวนต์ งานเทศกาลปลายปี
“ไทยเวียตเจ็ท” จับมือมูลนิธิสืบฯ เปิดตัว Fly Green Fund ระดมทุนดูแลสิ่งแวดล้อม
กรุงไทย คาดโควิดระลอกใหม่ทุบท่องเที่ยวในประเทศสูญกว่า 1.1 แสนล้าน
เปิดปฏิทิน เที่ยวสงกรานต์ยาว ๆ ภูเก็ต-บุรีรัมย์-พัทยา
สทท. ชี้เป้าตลาด “นักท่องเที่ยวไม่กักตัว” ชงจับคู่บับเบิลดึงเพิ่ม 3 ล้านคน
ททท. คาดหยุดยาว 19-22 พ.ย.นี้ คนไทยออกเที่ยว 3 ล้านคน-ครั้งเงินสะพัด 1.26 หมื่นล้าน

Leave a Reply