แม้ว่าทั่วโลกจะมีข่าวดีเรื่องการเริ่มทยอยฉัดวัคซีนป้องก
อ่านข่าวต้นฉบับ: ชงสารพัดมาตรการ วัดใจรัฐบาลอุ้ม…ธุรกิจท่องเที่ยว ?

แม้ว่าทั่วโลกจะมีข่าวดีเรื่องการเริ่มทยอยฉัดวัคซีนป้องกันโควิด-19 กันแล้วในกว่า 30 ประเทศ และมีแนวโน้มว่าจะกระจายการฉีดได้ครอบคลุมประชากรโลกอย่างรวดเร็ว แต่การแพร่ระบาดของโควิดระลอก 2 ในทั่วโลกก็ยังมีปริมาณสูงขึ้นเรื่อย ๆ แถมยังมีการกลายพันธุ์ของโรคและทำให้ติดต่อได้ง่ายขึ้น

บวกกับการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ในประเทศไทยที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 กระทั่งขณะนี้ก็ยังคงคาดการณ์ไม่ได้ว่าต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย และบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวจะกลับมาดีขึ้นได้เมื่อไหร่

นั่นหมายความว่าภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยเผชิญกับภาวะ “วิกฤต” มาแล้ว 1 ปีเต็ม ๆ หลายธุรกิจไม่มีรายได้ และหลายธุรกิจที่มีรายได้บ้างแต่ไม่เพียงพอกับการจ้างงาน ส่งผลให้ในปี 2563 ที่ผ่านมา แรงงานในภาคธุรกิจท่องเที่ยวตกงานถึงราว 1 ล้านคน

แรงงานจ่อตกงานพุ่ง 2 ล้านคน

“ชำนาญ ศรีสวัสดิ์” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้แรงงานในภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่มีจำนวนกว่า 4 ล้านคนได้รับผลกระทบ ทั้งถูกพักงานชั่วคราวและถูกลดเงินเดือน โดยคาดการณ์ว่าหลังการแพร่ระบาดระลอกใหม่ (ไตรมาส 1/2564) นี้ จะทำให้แรงงานในภาคธุรกิจท่องเที่ยวตกงานราว 1.5-2 ล้านคน

แนวโน้มการท่องเที่ยวไตรมาส1

“จากข้อมูลการสำรวจของ สทท. พบว่า แรงงานในภาคธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ไตรมาส 2/2563 ซึ่งเป็นช่วงการล็อกดาวน์ธุรกิจยาว 3 เดือน โดยไตรมาส 2/2563 มีแรงงานท่องเที่ยวตกงาน 2.6 ล้านคน และเริ่มคลี่คลายขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ที่ธุรกิจเริ่มกลับมาเปิดให้บริการบ้าง ทำให้ตัวเลขการตกงานในไตรมาส 3 ลดเหลือประมาณ 5.37 แสนคน แต่พอโควิดระลอกใหม่มาทำให้ไตรมาส 4 มีแรงงานตกงานเพิ่มเป็น 1.04 ล้านคน และคาดว่าแนวโน้มแรงงานท่องเที่ยวจะตกงานเพิ่มอีกในช่วงไตรมาส 1/2564 นี้”

ขณะที่ “มาริสา สุโกศล หนุนภักดี” รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และนายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) ให้ข้อมูลเสริมว่า ที่ผ่านมาหลายฝ่ายคาดการณ์กันว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาอีกครั้งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะชัดเจนมากว่าภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยตกอยู่ในภาวะปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 2 ปีเต็ม ๆ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่หนักและสาหัสมากสำหรับคนทำธุรกิจท่องเที่ยว

โดยปัจจุบันพบว่าในพื้นที่ 7 จังหวัดหลักที่พึ่งพารายได้จากภาคการท่องเที่ยว อาทิ ภูเก็ต, กระบี่, ชลบุรี, หัวหิน, เชียงใหม่ ฯลฯ ธุรกิจท่องเที่ยวยังคงปิดกิจการชั่วคราวกันอยู่ถึงราว 80% แรงงานส่วนใหญ่ตกงานเพราะธุรกิจไม่มีรายได้ จึงไม่สามารถรักษาการจ้างงานไว้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เจ็บปวดที่สุดสำหรับเจ้าของกิจการ

ชงสารพัด “มาตรการ” อุ้ม

“มาริสา” ให้ข้อมูลอีกว่า สถานการณ์ของผู้ประกอบการวันนี้คือส่วนใหญ่ยังเปิดกิจการ แต่ไม่มีรายได้ และต้องแบกรับภาระเรื่องการจ้างงานไว้จึงได้นำเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนใน 4 มาตรการหลัก ประกอบด้วย

1.โครงการ co-payment ให้รัฐสนับสนุนค่าจ้างแรงงาน 50% เป็นระยะเวลา 1 ปี (ใช้ฐานเงินเดือน 15,000 บาท)

2.สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ในอัตราดอกเบี้ย 2%

3.พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย ระยะเวลา 2 ปี

และ 4.ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ 15% เป็นเวลา 6 เดือน

มาตรการเร่งด่วนคือ co-payment เนื่องจาก “คน” คือหัวใจหลักของธุรกิจท่องเที่ยว โดยขณะนี้ สทท.ได้ประเมินไว้ว่าจำนวนแรงงานที่ต้องการมาตรการนี้มีประมาณ 8 แสนคน โดยเป็นแรงงานในภาคธุรกิจโรงแรมราว 4 แสนคน

ในประเด็นนี้ “ชำนาญ” บอกว่า นอกจากรัฐต้องอุดหนุนงบประมาณเพื่อให้คนออกเดินทางท่องเที่ยวแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยยังคงมีลมหายใจต่อได้คือการช่วยสนับสนุนต้นทุนการจ้างแรงงาน หรือ co-pay เนื่องจากต้นทุนค่าแรงงานถือเป็นต้นทุนสำคัญของภาคธุรกิจท่องเที่ยว

นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการจัดตั้งธนาคารแรงงานภาคท่องเที่ยว หรือ Tourism Labor Bank สำหรับเป็นศูนย์รวมรองรับกลุ่มแรงงานที่ถูกเลิกจ้างหรือว่างงานให้สมัครเข้ามาอยู่ธนาคารแรงงานเพื่อหาโอกาสในการทำงาน ขณะที่ผู้ประกอบการหรือหน่วยงานอื่น ๆ ก็สามารถเข้ามาเลือกจ้างผู้ที่มีทักษะตรงตามความต้องการไปทำงานได้

รวมถึงเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อเข้ามาช่วยพยุงผู้ประกอบการ เช่นเดียวกับการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านในอดีต

“ไทยเที่ยวไทย” ทางรอดเดียว

ด้าน “สุทธิพงศ์ เผื่อนพิภพ” รองประธาน สทท. และนายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) กล่าวว่า สถานการณ์ในวันนี้ตลาดภายในประเทศคือน้ำหล่อเลี้ยงเดียวของภาคธุรกิจท่องเที่ยวไทย เนื่องจากตลาดอินบาวนด์และเอาต์บาวนด์ยังคงเป็นศูนย์ และแนวโน้มก็ยังคงเป็นศูนย์ต่ออีกนาน โดยที่ผ่านมาทางสมาคม TTAA ได้หันมาขับเคลื่อนตลาดในประเทศตั้งแต่ปลายปี 2563 ที่ผ่านมา และยังคงดำเนินการต่อเนื่องในปีนี้ในนามของ สทท.ด้วย

โดยแนวทางการขับเคลื่อนคือ นำเสนอโครงการขอใช้งบประมาณที่เหลือจากโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” กว่า 1 หมื่นล้านบาทมาขับเคลื่อน ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมหารือหาแนวทางร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนมาก อาทิ ททท., กรมการท่องเที่ยว, ทีเส็บ, อพท., สภาอุตสาหกรรมฯ, หอการค้าฯ เป็นต้น

ทั้งนี้ เชื่อว่าบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยจะกลับมาอีกครั้งในเดือนเมษายนนี้ ดังนั้น ระหว่างนี้ สทท.ได้เร่งทำงานอย่างเต็มที่พร้อมผลักดันโครงการต่าง ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ สานต่อโครงการ “ทัวร์คนโสด” ที่ต้องหยุดไปเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิดรอบใหม่

นอกจากนี้ยังมีมาตรการขับเคลื่อน “เที่ยวไทยช่วยไทย” ภายใต้โครงการต่าง ๆ ประกอบด้วย โครงการเราเที่ยวด้วยกันทุกสินค้าท่องเที่ยว ในระบบ co-pay, ส่งเสริมหน่วยงานราชการท้องถิ่น สถานศึกษา ออกเดินทางท่องเที่ยว ประชุม สัมมนา, ส่งเสริมภาคเอกชนท่องเที่ยวภายในประเทศ, ส่งเสริมนักท่องเที่ยวพรีเมี่ยมเชิงสร้างสรรค์ และเพิ่มความร่วมมือกับภาครัฐ เร่งขับเคลื่อนท่องเที่ยวภายใประเทศ

มั่นใจ (ยัง) มีทางออก

ประธาน สทท.ยอมรับว่าที่ผ่านมา ภาคธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมากที่สุด แต่ผู้ประกอบการทั้งหมดยังคงสู้ เพราะรัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศมาขับเคลื่อน อาทิ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน, โครงการกำลังใจ (พา อสม.เที่ยวฟรี) ฯลฯ ทำให้ผู้ประกอบการเชื่อว่ายังพอมี “ความหวัง” เหลืออยู่บ้าง

อย่างไรก็ตาม สำหรับ สทท.เองเชื่อว่า วิกฤตครั้งนี้ยังมี “ทางรอด” เช่นเดียวกับทุก ๆ วิกฤตที่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวผ่านมาในอดีต หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ แต่ก็ยอมรับว่าคงมีธุรกิจบางส่วนที่ต้องล้มหายตายจากไปเช่นกัน

โดยขณะนี้ทาง สทท.ได้นำเสนอมาตรการต่าง ๆ ต่อหน่วยงานรัฐเพื่อให้ช่วยสนับสนุนและส่งเสริมภาคธุรกิจท่องเที่ยวให้สามารถประคองตัวและเดินหน้าต่อไปได้หลาย ๆ ประเด็น รวมถึงโครงการที่จะออกมากระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศจำนวนมาก

พร้อมบอกด้วยว่า ด้วยสถานการณ์วันนี้ความหวังเดียวของภาคธุรกิจท่องเที่ยวคือ “รัฐบาล” กล่าวคือ ธุรกิจมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้รัฐบาลอุดหนุนงบประมาณ (subsidize) เพื่อให้ช่วยกันกระตุ้นให้คนไทยออกเดินทางท่องเที่ยว และทำให้ผู้ประกอบการทุกซัพพลายเชนได้รับประโยชน์เท่า ๆ กัน หรือเรียกว่า “เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข” และช่วยให้ทุกเซ็กเตอร์มีกำลังใจที่จะกลับมาเปิดธุรกิจ

“ถ้าในช่วงไตรมาส 1-2 นี้ รัฐอนุมัติให้ใช้งบประมาณที่เหลือจากโครงการเราเที่ยวด้วยกันกว่า 1 หมื่นล้านบาทออกมาใช้ และสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐออกมาใช้งบประมาณสำหรับการเดินทางท่องเที่ยว หรือจัดประชุม สัมมนา ในช่วงไตรมาส 3-4 ภายใต้แคมเปญเที่ยวช่วยชาติ เชื่อว่าทุกเซ็กเตอร์ที่เป็นซัพพลายเชนของภาคธุรกิจท่องเที่ยวรอดได้แน่นอน”

โดยย้ำว่า แนวทางการดำเนินงานโครงการทั้งหมดดังกล่าวนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากภาครัฐ เพราะเป็น “ทางรอด” เดียวของภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยในห้วงเวลานี้

อ่านข่าวต้นฉบับ: ชงสารพัดมาตรการ วัดใจรัฐบาลอุ้ม…ธุรกิจท่องเที่ยว ?

Credit ข่าวและภาพจาก ฟีดข่าวประชาชาติ : https://www.prachachat.net

Recommend more :

เลื่อนจอง “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 2 หลังพบโรงแรม-ร้านค้าทุจริต 500 แห่ง
“SHR” เขย่าพอร์ตโรงแรม UK โฟกัสสินทรัพย์สร้างกำไร
คิกออฟ ‘ภูเก็ต แชนด์บ็อกซ์’ ฟื้น ‘เศรษฐกิจ’ ต่อชีวิตคนท่องเที่ยว
เปิด 4 ข้อ “ไมเนอร์” แนะ “ประยุทธ์” เรื่องนโยบายวัคซีนในไทย
ครม.ไฟเขียว ซอฟต์โลน “มีที่ มีเงิน” หมื่นล้าน อุ้มธุรกิจท่องเที่ยว
โรงแรมจี้รัฐพยุงสภาพคล่อง วอนเร่ง “เปิดประเทศ” ก่อนธุรกิจล้มตาย
“ภูเก็ต” โหมปลุกท่องเที่ยว คาดเริ่มฟื้นตัวเมษายนนี้
รมต.พิพัฒน์ ชี้โควิดระลอกใหม่กระทบสั้น คาดเที่ยวในประเทศฟื้นแน่ มี.ค.นี้
เปิดชื่อที่พักทั่วไทย เสมือนได้ไปดาวอังคาร โดยไม่ต้องออกนอกวงโคจร
โรงแรม 3.7 พันแห่ง ปิดตาย ทุนต่างชาติไล่ทุบราคา “ภูเก็ต-สมุย”
หลบโควิด! คนจองสิทธิ์ “เราเที่ยวด้วยกัน” เลื่อนวันเข้าพักได้ 6 เดือน -1 ปี
ศบค.ไฟเขียวจัดแข่งกีฬา-เปิดให้ต่อเครื่องที่สุวรรณภูมิ-รับข้อเสนอ ยอร์ช ควอรันทีน

Leave a Reply